Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

แบ่งยุคสามเกลอ



ทางชมรมนักอ่านสามเกลอของเรา ได้เคยมีการเรียบเรียงลำดับของหนังสือชุดสามเกลอขึ้น แต่เนื่องจากหนังสือชุดสามเกลอนั้นมีกว่า 1,000 ตอน ใช้เวลาแต่งยาวนานถึง 30 ปี (พ.ศ.2481 - 2511) พิมพ์จากหลายสำนักพิมพ์ แต่และตอนมีการพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง ประวัติหลักฐานเกี่ยวกับการพิมพ์กระจัดกระจายสูญหายไปหมด มิหนำซ้ำยังมีความสับสนวุ่นวายเกี่ยวกับทางด้านลิขสิทธิ์ ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นผู้ที่รักการอ่านสามเกลอ ควรที่จะจัด เรียบเรียงลำดับตอนของสามเกลอ อย่างที่มีผู้จัดทำใน ชมรมฯ มาแล้ว ผมเองในฐานะที่อ่านหนังสือสามเกลอมาตั้งแต่เด็กๆ และมีหนังสือสามเกลออยู่ในความครอบครองมากพอสมควร ขอบอกว่าไม่มีทางที่จะเรียบเรียงตอนของสามเกลอนับพันตอนได้อย่างสมบูรณ์แบบได้แน่ แต่สิ่งที่เราพอจะทำได้คือการแบ่งยุคสามเกลออย่างถูกต้องและเป็นมาตรฐาน
ยุคของสามเกลอนั้นก่อนอื่นเราจะนึกถึงชุดวัยหนุ่มของผดุงศึกษา ชุดวัยหนุ่มนี้เราจะเอาเป็นหลักในการแบ่งยุคของสามเกลอไม่ได้ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. ความหมายของชุดวัยหนุ่มของผดุงศึกษา คล้ายจะเป็นการบ่งบอกว่าความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์มากกว่า
2. ปี พ.ศ. ที่ปรากฏอยู่ตอนเริ่มแรกของแต่ละตอน ไม่ตรงกับในเนื้อเรื่อง
3. ตอนที่พิมพ์มีช่วงเวลานานมากเกินกว่าที่ถูกรวบรวมในยุคเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ตอน อายผู้หญิง (2481) วันรับเสด็จ (2492) ระบำโป๊ (2501) สอบเชลย (2508)
จากเหตุผลดังกล่าวนี้ ผมเสนอความคิดกับ Webmaster ว่าเราควรที่จะจัดยุคสามเกลออย่างมีระบบและเป็นมาตรฐาน เพื่อผู้ที่สนใจในสามเกลอจะได้ไม่เกิดความสับสน แต่ต้องขอออกตัวก่อนว่า ข้อมูลหลายอย่างต่อไปนี้เป็นการคาดคะเนอาจจะไม่ตรงตามความจริง ถ้าสมาชิกชมรมท่านใดมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ จะให้ความกระจ่างจะขอบคุณเป็นอย่างมาก และอีกอย่างหนึ่งก็คือผมจะให้ความสำคัญในการแบ่งยุคเฉพาะการพิมพ์ครั้งแรก (First Edition) เท่านั้น
เราสามารถแบ่งยุคของสามเกลอได้ดังต่อไปนี้

1. ยุคแรกหรือยุควัยหนุ่ม (พ.ศ.2481-2485) ซึ่งความหมายของยุควัยหนุ่มนี้จะไม่เหมือนกับของผดุงศึกษา จะเริ่มจากสามเกลอตอนแรก คือตอนอายผู้หญิง เรื่อยไปจนถึงตอนสงครามอินโดจีนและสิ้นสุดก่อนสงครามโลกมหาเอเซียบูรพา สำนักพิมพ์ (พิมพ์ครั้งแรก) มีเพียงแห่งเดียวคือ สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ราคาขายเล่มละ 20-35 สตางค์ คาดว่าจะมีประมาณ 150 ตอน ภายหลังสำนักพิมพ์ผดุงศึกษาได้ลิขสิทธิ์ และยังพิมพ์ขายจนถึงปัจจุบัน แต่คาดว่ามีตอนที่ขาดหายไปไม่ต่ำกว่า 30 ตอน สำหรับผมแล้วผมเห็นว่าสามเกลอยุคนี้เป็นรุ่นที่แต่งได้ดีที่สุดและสนุกที่สุดด้วย

2. ยุคสงครามโลก (พ.ศ.2485-2489) ที่คาดคะเนมีประมาณ 40-50 ตอน ตามความเป็นจริง ควรที่จะนับยุคนี้รวมกับยุคแรก แต่มีความจำเป็นที่จะต้องแยกออกมาเป็นพิเศษ คือ หนังสือสามเกลอในรุ่นนี้ หายากมากๆ และหาข้อมูลไม่ได้เพราะเนื่องจากหนังสือพิมพ์สมัยสงคราม กระดาษมีราคาแพงและหายาก ทำให้จำนวนที่พิมพ์น้อย ประกอบกับกระดาษที่พิมพ์เป็นกระดาษชั้นเลว (ที่เราเรียกว่ากระดาษเช็ดก้น) ทำให้หนังสือรุ่นนี้สูญหายไปเป็นส่วนใหญ่ ผมเคยได้ยินคุณพ่อเล่าให้ฟัง มีตอนที่สามเกลอร่วมรบกับทหารญี่ปุ่น แต่ต่อมาสามเกลอก็เป็นเสรีไทยอีกด้วย

หนังสือรุ่นนี้ที่พอจะหาอ่านได้คือ สามเกลอชาโดว์ ที่ผดุงศึกษาพิมพ์ใหม่ (โปรดสังเกตเนื้อเรื่องว่าอยู่ในระหว่างสงคราม) และที่ชมรมฯเพิ่งค้นพบเร็วๆนี้คือเรื่อง จ๊ะเอ๋ เป็นที่น่าเสียดายมากที่เราสามารถหาอ่านได้แค่สองเรื่องนี้เท่านั้น

3. ยุคกลาง (พ.ศ.2489-2504) ในยุคนี้จะสามารถแบ่งเป็น 2 แบบดังนี้
3.1 สามเกลอในนิตยสาร (พ.ศ.2489-2492) ในช่วงนี้ คุณ ป.ทำงานอยู่หนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ ช่วงแรกหนังสือเพลินจิตต์ และต่อมาลาออกจากเพลินจิตต์ ไปเป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ ปิยะมิตร สามเกลอที่แต่งในช่วงนี้มักจะเป็นตอนสั้นๆ เพื่อความสะดวกที่จะไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน หรือรายสัปดาห์ได้สะดวก เช่น ตอน ลักเพศ ขายลูกสาว ฯลฯ สามเกลอรุ่นนี้ ได้ถูกพิมพ์ซ้ำโดยสำนักพิมพ์ผดุงศึกษา ประมาณ พ.ศ.2493-2494 เป็นเล่มบางๆราคาเล่มละ 1 บาท และได้พิมพ์ต่อเนื่องจนเป็นรวมเล่มในปัจจุบัน คาดว่าจะมีตอนที่ตกหล่นหายไปพอสมควร
3.2 สามเกลอเป็นเล่ม (พ.ศ.2492-2504) หลังจากที่คุณ ป. ลาออกจากปิยะมิตรแล้ว ได้แต่งสามเกลอขายให้แก่สำนักพิมพ์ต่างๆหลายสำนักพิมพ์ดังนี้
- สำนักพิมพ์บรรณาคาร เป็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์ สามเกลอออกขายมากที่สุด คาดว่าจะมีประมาณ 200 ตอน เช่น รับเสด็จ (2492) วันอีโต้(2499) เสือสเปญ(2502)
- สำนักพิมพ์ เขษมบรรณกิจ ช่วงประมาณ พ.ศ.2492-2495 แต่มีจำนวนไม่มากนัก เช่นตอน ป่าช้าผีตาย(2402) ชุดท่องอัฟริกา
- สำนักพิมพ์ประมวลสาส์น ช่วงประมาณ พ.ศ.2499-2504 มีประมาณ 50 ตอน เช่น ตอน ไส้โค(2502) นักสืบนักสู้(2504) นักดาบสามเกลอ(2504) ซึ่งได้จัดพิมพ์อีกครั้งโดยสำนักพิมพ์ คิงส์บุ๊ค
4. ยุคปลาย (พ.ศ.2505-2511) สามารถแยกแยะได้ดังนี้
4.1 สามเกลอเป็นเล่ม มีหลายสำนักพิมพ์ดังนี้
- บันลือสาส์น (พ.ศ. 2505-2511) จะมีการพิมพ์ออกมามากที่สุด ประมาณว่าจะมีประมาณ 300-400 เล่ม เริ่มจากตอนอภินิหารหลวงพ่อทวด(2505)
- บันดาลสาส์น (พ.ศ. 2507-2509) ไม่มากนักประมาณ 30-50 ตอน
- ผดุงศึกษา (พ.ศ. 2509-2509) ประมาณ 20- 30 ตอน
- เพลินจิตต์ (พ.ศ. 2508) มีพิมพ์เรื่องเดียว คือชุดดาวหางทลายโลก
- ประพันธ์สาส์น (พ.ศ. 2508-2511) ประมาณ 30 ตอน
4.2 สามเกลอที่พิมพ์รวมกับเรื่องอื่น
- ศาลาโกหก (พ.ศ. 2506-2511) ประมาณ 90 เล่ม โดยผดุงศึกษา และประพันธ์สาส์น
- สวนสำราญ (พ.ศ. 2509) ประมาณ 10 เล่ม

ผมหวังว่าแนวทางนี้คงจะเป็นประโยชน์ต่อการแบ่งยุคสามเกลอพอสมควร ถ้าท่านสมาชิกมีข้อขัดแย้งหรือมีข้อแนะนำอย่างไรกรุณาแจ้งมาทางชมรมนะครับ


ร่มโพธิ์ อุดล
2 กันยายน 2542




All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace sufers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.