Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

ปรานี ผู้หญิงในดวงใจของ ป.อินทรปาลิต





ที่มา: นิตยสารรุ้ง ฉบับที่ 18 ปีที่ 2 เดือน ส.ค. 2533
สนับสนุนข้อมูลโดย: ชมรมอนุรักษ์การ์ตูนไทย
  ตีพิมพ์บน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อการศึกษา
พิมพ์โดย: คุณต้น สมาชิกหมายเลข 00002

"คุณ ป. น่ะเหมือนข้าวสาร ทุกคนยังต้องการกินข้าวสาร ก็เหมือนกับต้องการเรื่องของคุณ ป."

ถ้าคุณเป็นนักอ่านหนังสือ คงมีสักครั้งหนึ่งที่มีโอกาสได้ผ่านตากับบทประพันธ์หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเสือใบ สามเกลอหัวแข็ง (พล นิกร กิมหงวน) ศาลาโกหก และอีกนับไม่ถ้วน ตัวละครทุกตัวในแต่ละเรื่องนั้น มีชีวิตชีวา สนุกสนาน หรือแม้แต่เศร้าสร้อยจนทำให้เรารู้สึกคล้อยตามด้วยจินตนาการอันลึกซึ้งของผู้แต่ง ในยุคสมัยที่อาชีพขีด ๆ เขียน ๆ ได้รับการขนานนามว่า 'นักเขียนไส้แห้ง'
ถ้าตัวอักษรทุกตัวที่เรียงรายอยู่บนหน้ากระดาษนั้น ไม่ได้เกิดจากพื้นฐานของความรักในอาชีพนี้อย่างจริงใจและจริงจังแล้ว บทประพันธ์เหล่านี้คงไม่เกิดขึ้นให้เราได้อ่านกันอย่างเพลิดเพลิน
แม้นว่า...ป.อินทรปาลิต ผู้เป็นนักเขียนไส้แห้งคนนั้นได้ลาลับไปไกลเหลือไว้ให้แก่ลูกหลานเพียงความบันเทิงที่หลงเหลือแทนตัวเขา และทอดทิ้ง ความรัก ความผูกพันไว้ต่อหญิงหนึ่ง คนนี้...

ปรานี อินทรปาลิต
ผู้หญิงที่เก็บความรัก ความผูกพันไว้ จนบัดนี้


รุ้ง: ป.อินทรปาลิตนี่ เป็นชื่อจริงหรือเปล่าคะ
คุณปราณี: นามปากกาค่ะ ชื่อจริงชื่อว่า ปรีชา อินทรปาลิต บางทีก็เรียกกันว่า ชา

รุ้ง: คุณป. เขียนมาทั้งหมดกี่เรื่องแล้ว คุณป้าจำได้มั้ย
คุณปราณี: โอ้โฮ...จำไม่ได้นะหนู เฉพาะเรื่องสามเกลอนี่ก็เป็นพัน ๆ ตอนแล้ว

สามเกลอที่คุณป้าพูดถึง เป็นนิยายพ็อกเก็ตบุ้ค ที่ออกมาแนวตลกโปกฮา โดยมีตัวละครประจำเรื่องอยู่ไม่กี่คน แต่ละคนก็มีบทบาทบุคลิกที่เด่นชัด เช่น กิมหงวน มหาเศรษฐีชาวจีนผู้รวยล้นฟ้า ฉีกแบงก์ทิ้งเป็นว่าเล่น พล ผู้รูปหล่อ หรือนิกรที่แสนกะล่อน และตัวประกอบอื่น ๆ ที่แวะเวียนกันเข้ามามีบทบาทในแต่ละตอน

รุ้ง: ป้าว่าในบรรดาตัวละครทั้งหมด คุณป. อยากเป็นตัวไหนในชีวิตจริง
คุณปราณี: แกคงอยากเป็นพลมากกว่านะคะ รูปหล่อ บางทีแกคุยเล่น ๆ ถามว่าป้าชอบตัวไหน ป้าจะบอกว่าชอบไอ้หงวน ไม่ใช่หมายถึงว่าเขารวยนะ แต่กิมหงวนเป็นเสียสละดี แล้วป้าไม่ชอบไอ้กร กระดูก เคี่ยว รู้มาก ไปไหนไม่เคยออกเงิน ไอ้นี่รู้มาก

รุ้ง: เขาได้พล็อตเรื่องมาจากไหน หรือมีใครเป็นตัวอย่างคะ
คุณปราณี: แกไม่ดูใครเป็นตัวอย่างเลย นักเขียนด้วยกันเองยังบอกว่า โธ่ คุณป. เหรอดีแต่เขียนเรื่องรัก โศก แนวอื่นเขียนไม่ได้ ตอนหลังแกถึงหันมาเขียนเรื่องเสือใบ ก็เขียนเสียจริงจัง จนตำรวจต้องห้ามไม่ให้เขียนอีก เพราะว่าชาวบ้านจะเป็นเสือใบกันทั้งเมือง ใส่เชิ้ตดำสวมหมวก ถึงขนาดคนที่มาแสดงละครเรื่องนี้ขึ้นรถเมล์ก็ไม่ต้องเสียตังค์

เสือใบเป็นเรื่องจริง มีศักดิ์เป็นถึงลูกเจ้าพระยา เข้ารับราชการแต่ทนไม่ได้กับการโกงกินของเจ้านาย จึงมีเบื้องหลังเป็นผู้ร้ายเย้ยกฎหมาย มีศีลธรรม ชอบช่วยเหลือคนจน เหมือนกับตัวละครโรบินฮู้ดของฝรั่ง

รุ้ง: รายได้จากการเขียนหนังสือเป็นอย่างไรบ้างคะ
คุณปราณี: ตอนที่เริ่มเป็นนักเขียนใหม่ ๆ ได้ 20 บาทต่อเล่ม ๆ หนึ่ง ก็ดีใจตายชักแล้วค่ะ

รุ้ง: เรื่องไหนที่ทำให้ดังขึ้นมา
คุณปราณี: สามเกลอนี่แหละ ที่ได้ค่าเรื่องเพิ่มมาอีกเป็นสองสามร้อยบาทต่อเล่ม แต่ตอนนั้นป้ายังไม่ได้มาอยู่กับคุณป. นะคะ

รุ้ง: แล้วมาอยู่กับคุณป. ได้อย่างไร
คุณปราณี: ก็ไม่รู้สิ คงเป็นเพราะป้าลำบากมั้ง ต้องทำงานเป็นแคชเชียร์อยู่นอกบ้าน สารพัดที่จะต้องรับภาระ ทั้งแม่ทั้งน้อง ใครเป็นที่พึ่งป้าได้ ป้าก็ยอม ป้าไม่คิดอะไรหนักหนา อันนี้ป้าพูดอย่างเปิดอกนะคะ

รุ้ง: แสดงว่าคุณป. เข้ามาหาคุณป้าด้วยความสงสาร
คุณปราณี: ไม่ค่ะ ไม่ แกพูดยังงี้ พี่รักหนู เมียพี่เป็นอย่างเงี้ย ยุ่งกันไม่ได้ เป็นผัวเมียกันไม่ได้ ป้าก็โอ.เค. เพราะเราก็ชอบเขาอยู่แล้ว รักเขา ป้าก็บอกว่า พี่ต้องขอแม่หนูนะ แต่แม่หนูคงไม่เอาอะไรพี่หรอก แกก็ไปขอเองเลย เข้าไปหาแม่ บอกแม่ว่า ผมรักเขานะครับ แม่ของป้าก็บอกว่า ลูกฉันทำอะไรไม่เป็นนะคุณ ไม่เป็นจริง ๆ ดีแต่หุงข้าว สุกมั่ง ไม่สุกมั่ง แกก็บอกว่า ผมไม่ได้ขอลูกสาวแม่ไปเป็นคนใช้นะครับ ผมขอไปเป็นเมียผม แม่ถึงยอม

รุ้ง: คุณป. เป็นเจ้าบุญทุ่ม
คุณปราณี: ไม่ทุ่มหรอกค่ะ ธรรมดา ๆ แกไม่มาทุ่มอะไรกับป้าหรอก อยู่ด้วยกันแกยังไม่มาทุ่มเลย ตอนจีบก็ไม่ทุ่ม

รุ้ง: งั้นเขาบอกรักอย่างไรเล่าคะ
คุณปราณี: (คุณป้าทำเสียงโวยวายด้วยความเหนียมอาย) รักก็รักนะ...

คุณป้าไม่ยอมเล่าให้ฟังว่าในยุคสมัยนั้น คุณป. ใช้คารมวาบหวิวขนาดไหนจนทำให้ใจอ่อนยอมร่วมหอลงโรงด้วย เพียงแต่บอกว่า คุณป. มีจดหมายรักมาถึง แล้วเธอก็ขอเก็บไว้อ่านคนเดียว ตราบจนทุกวันนี้ก็ยังถือว่า จดหมายต่าง ๆ ที่คุณป. ส่งให้ เป็นเสมือนตัวแทนที่คุณป้าเก็บติดไว้ในกระเป๋าเงินพกพาไปไหนมาไหนด้วยตลอดเวลา

รุ้ง: ขอดูจดหมายบ้างได้ไหมคะ จะได้เห็นว่าแตกต่างกับสมัยนี้อย่างไร
คุณปราณี: แตกต่างแน่ ๆ ค่ะ แต่ไม่ให้อ่านหรอก

รุ้ง: มีหลายฉบับ
คุณปราณี: ค่ะ มีหนังสือบางฉบับเหมือนกันที่ได้จดหมายป้าไปตีพิมพ์ ซึ่งป้าไม่ทราบเหมือนกันว่าเขาไปได้มาจากไหน

รุ้ง: เขียนลักษณะยังไงคะในจดหมาย
คุณปราณี: ลักษณะความในใจ (ยิ่งทำให้พวกเราอยากได้มีโอกาสอ่านจดหมายรักสำนวนนักเขียนอย่างคุณป. บ้าง จึงช่วยกันอ้อนวอนขอดูฉบับที่คุณป้าพกไว้ติดตัว จนใจอ่อนยอมอนุญาต และก้มลงค้นหาในกระเป๋าเงินด้วยใบหน้าที่เปี่ยมไปด้วยความสุข ราวกับได้หวนระลึกว่าเวลาช่วงนี้คุณป. และคุณป้าอยู่เพียงลำพังจนล่วงไปสักพักหนึ่ง สีหน้าและแววตาของคุณป้าดูเปลี่ยนไป)

รุ้ง: เกิดอะไรขึ้นหรือคะ
คุณปราณี: หาไม่เจอแล้ว (น้ำเสียงสั่นเครือ) ป้าเก็บไว้ในนี้แนบตัวตลอดเวลาจริง ๆ นะหนู ไม่รู้ใครมาเอาไป

เป็นอันว่าพวกเราหมดโอกาสที่จะได้เห็นคารมของนักรักรุ่นลายคราม เป็นเพราะจดหมายหายไป หรือมีมือดีมาแอบฉกไปเพื่อนำไปหาผลประโยชน์ทางการค้าก็ไม่อาจทราบได้

รุ้ง: มาอยู่กับคุณป. แล้วสบายขึ้นมั้ย
คุณปราณี: ก็ไม่สบายทีเดียว เพราะอยู่ด้วยกันไม่กี่เดือน ญี่ปุ่นก็บุก เกิดสงครามตั้ง 5 ปี ต้องช่วยแกทำมาหากิน เพราะแกมีลูกกับเมียเดิมอีกตั้ง 2 คน เราต้องช่วยเลี้ยง กระดาษก็ไม่มี ก็มีคนแนะนำให้ไปพากย์หนังจีน แกก็ไป พอต้องไปต่างจังหวัด แกก็เอาป้าไปด้วยช่วยพากย์ ไม่ได้เงินด้วยแถมซ้ำป้ายังถูกตีอีก เพราะป้าพากย์ไม่ได้ เห็นบทแล้วพูดไม่ออก ต้องโดนทุบเข้ากลางหลัง ป้าถึงหลุดพูดออกไปได้ ถึงได้เรื่อง

รุ้ง: หากินยากมั้ยคะหลังจากนั้น
คุณปราณี: อ๋อ ไม่ยากหรอกค่ะ เรื่องของแกก็มีคนต้องการเรื่อยนะคะ อย่างนายเวิ้ง นครเกษม นี่เจ้าประจำเลย เขาบอกว่า คุณป. น่ะเหมือนข้าวสาร ทุกคนยังต้องการกินข้าวสาร ก็เหมือนกับต้องการเรื่องของคุณป.

รุ้ง: เป็นนักเขียนดื่มเหล้าเก่งหรือเปล่า
คุณปราณี: ไม่เลย แกไม่ดื่มเลย แล้วก็ไม่ค่อยสังคมกับพวกนักเขียนด้วยกัน พวกนั้นเขากินเหล้า แกเหมือนคนเจียมตัว จนกลายเป็นดูถูกตัวเอง แกบอกว่าเราจนแล้วไม่กินเหล้า ก็อย่าไปสังคมกับเขาเลย เขาต้องไม่ชอบเรา จนป้าต้องขอร้องว่าให้แกไปพบปะพวกนักเขียนบ้าง แกก็ เออ...เออ...เมียบอกให้ไปก็ไปซะหน่อย พอแกไปก็สมหวัง พวกที่ไม่เคยเห็นแกเลย พอได้มาเจอก็ดีใจ

รุ้ง: มีตัวละครตัวไหนคะที่คุณป. สมมุติเป็นคุณป้า
คุณปราณี: ไม่ทราบ อันนี้ป้าไม่ทราบ เท่าที่รู้ก็มีศาลาโกหกนี่แหละที่เขาล้อป้ามากที่สุด บรรยายว่าป้าเสียงดัง กินหมากปากเลอะ แล้วก็ให้ป้าไปขายห่อหมก แกเขียนซะจนคนนึกว่าป้าเป็นแบบนั้นจริง ๆ แถมบอกว่าป้าตัวใหญ่ ตัวยังกับผีเสื้อสมุทรอีกนะ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันตรงกันข้ามหมด ป้าตัวเล็ก

รุ้ง: ตอนนี้อายุเท่าไรแล้วคะ
คุณปราณี: 72 ปีค่ะ ตอนมาอยู่กับคุณป. ก็ 20-21 ปี เขาแก่กว่าป้า 10 ปี

รุ้ง: แล้วทำไมถึงไปอยู่ที่อเมริกาได้คะ
คุณปราณี: ป้าว่าเป็นเพราะพรหมลิขิตบันดาลดวงชะตานะไม่ใช่อะไรหรอก ทนายป้ายังบอกว่า อย่างป้านี่ดีนะ ไปผจญชีวิตดีกว่าผู้ชายบางคนอีก จริง ๆ แล้ว หลังจากคุณป. เสีย ป้ายังอยู่บ้านสามพราน ป้าชอบเลี้ยงหมา เลี้ยงไว้ในบ้านตั้ง 18 ตัว แล้วมันก็เที่ยวไปอาละวาดชาวบ้านแถวนั้น พวกเขาไม่ยอม ถือปืนมายืนหน้าบ้านป้าจะมายิงหมา ป้าก็ เอ...เรานี่ชักจะไม่ค่อยดี อยู่ตัวคนเดียวมันชักมีเหตุการณ์ที่ไม่น่าดู

รุ้ง: แล้วญาติ ๆ ไปไหน
คุณปราณี: โธ่ แม้แต่ลูกเขยของคุณป.เองยังบอกว่า ถ้าขายเรื่องของคุณป. แล้วไม่แบ่งเงินให้แกนี่แกจะแพ่ง...แพ่ง...ใส่ป้า ถึงขั้นนี้แล้วป้ายังอยากอยู่อีกหรือเมืองไทย ในเมื่อป้าก็อยู่ตัวคนเดียวกับคุณป. ก็ไม่มีลูกด้วยกัน คุณเชิด ทรงศรี มาขอซื้อเรื่องกับป้า ป้าก็ไม่ยอมขาย เพราะว่าป้าเกลียดเรื่องที่จะมาซื้อขาย เดี๋ยวจะมามีเรื่อง ป้าก็บอกคุณเชิดว่า อย่าทำเลย เขาก็...ทำเหอะ กลัวไปทำไม ผมจะช่วยพี่เอง ป้าก็ไม่ยอม คนเขียนเขาก็ตายไปแล้ว มานั่งทึ้งอะไรกันมันน่าเกลียดจะตายชัก คุณเชิดก็ว่า ว้าย...ถ้าหนังออกมาดี ผมจะให้พี่ 15% ป้าก็ไม่เอาลูกเดียว

รุ้ง: ปกติเรื่องลิขสิทธิ์เรื่องของคุณป. ซื้อได้ที่ใครคะ
คุณปราณี: เดี๋ยวนี้หรือคะ...ก็นี่แหละป้าถึงอยากจะทำมูลนิธิขึ้นมา เพราะว่าป้าไม่ทราบเรื่องเลยว่าใครเอาเรื่องไปขาย ใครเอาไปซื้อ

รุ้ง: อ๋อ เขาเอาเรื่องไปเล่นเอง ไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์
คุณปราณี: ไม่ค่ะ หมายถึง เอ่อ...เขาซื้อกับลูกชายคุณป. เห็นทนายบอกว่าเขาก็มีสิทธิ์ครึ่งหนึ่ง ป้า 50 เขา 50 เขามีสองคนแบ่งกันคนละ 25% แล้วระหว่าง 25 นี่ป้ายังมีส่วนอีก ป้าก็บอกทนายว่าไม่อยากถึงอย่างนั้นหรอก ทึ้งกันจะตายอยู่แล้ว เลยอยากตั้งมูลนิธิขึ้นมา คือว่า ใครเอาเรื่องไปแล้วก็จะต้องเอาเงินที่ได้มาเข้ามูลนิธิ

รุ้ง: รวมทั้งของลูกคุณป. ด้วย แล้วเขาจะยอมหรือ
คุณปราณี: อันนี้ก็ช่างเขาสิคะ ส่วนของเขาจะเข้าหรือไม่ ก็ช่างเขา

รุ้ง: แล้วส่วนของคุณป้า
คุณปราณี: เข้ามูลนิธิเลย คือป้าไม่ต้องการ ป้าพอแค่นี้แล้ว ป้าไปหารับประทานเองสบายกว่าไม่ต้องแบ่งใคร เพราะถ้ามูลนิธิตั้งขึ้นมาก็ถือว่าป้าเสียสละส่วนของคุณป. ไปเพื่อนักเขียนรุ่นหลัง ลูกหลานรุ่นหลัง เขาเดือดร้อน ต้องการให้องค์การนี้ช่วยเหลือ เช่นเขียนเรื่องแล้วไปไม่รอด เราก็หาทางช่วยเขา แต่มูลนิธิที่จะเริ่มนี่ต้องมีทุนถึง 2 แสนจึงจะตั้งได้ ป้าจะไปเอาเงินที่ไหน ป้าไม่มีปัญญาหา ถ้าต้องไปเรี่ยไรเขาก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

รุ้ง: ช่วงที่ไปอยู่อเมริกา 12 ปีนี่ มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์มากหรือคะ คุณป้าถึงต้องกลับมาตั้งมูลนิธิ
คุณปราณี: มิได้ค่ะ ป้าไม่ตั้งใจเลยนะคะ ป้ากลับมาเพราะอยากมาหาคนโน้นคนนี้ มาทำบุญให้คุณป. ไปเยี่ยมกระดูก ป้ายังบอกคุณป. เลยว่า คงไม่มาอีกแล้ว มาหนนี้หนเดียวนะพี่

รุ้ง: ไปทำอะไรที่อเมริกาคะ
คุณปราณี: ไปเลี้ยงเด็ก หาเงินเลี้ยงตัวเอง ตั้งแต่อยู่มาเลี้ยงไป 11 คนแล้ว บางทีเลี้ยงคนพี่อยู่ แม่เขามีอยู่ในท้องอีกคนก็ให้เราอยู่เลี้ยงต่อเลย ก่อนกลับมาเมืองไทยนี่ ก็เลี้ยงคนแก่อายุตั้งเกือบแปดสิบ คือเลี้ยงตั้งแต่เด็กสุดจนถึงคนแก่สุด แต่ป้าเลี้ยงคนแก่นี่แหละถึงได้มีเงินกลับมาเพราะว่าได้เงินดี เนี่ย...ลูกสาวคนแก่ที่ป้าเลี้ยงแกตามมาเมืองไทยด้วย เขาอยากจะชวนให้ป้าไปอยู่กับพี่สาวเขาที่เปิดร้านอาหารไทยอยู่ในลาสเวกัส เขาถือว่าป้านี่เป็นเหมือนญาติเขา เพราะอยู่ดูแลแม่เขาจนเสีย เขาบอกให้ป้าพอเถอะ แก่แล้ว

รุ้ง: เลี้ยงเด็กรายได้ดีมั้ยคะ
คุณปราณี: โอ๊ย สองสามร้อยเหรียญเองต่อเดือนนะ ใครเขาจะให้เรามากมาย แถมซ้ำเรากินอยู่ในบ้านเขาด้วย ป้าไม่รับเลี้ยงนอกบ้านไม่อยากยุ่ง ถ้าใครต้องการป้าเขาก็โทร.มาเรียก ถ้าข้ามรัฐก็ส่งตั๋วมาสิจะบินไป

รุ้ง: ตอนไปใหม่ ๆ ไม่มีปัญหาเรื่องภาษาหรือคะ
คุณปราณี: คือป้าไม่ไปยุ่งกับใครเขา ไม่พูดเลยแต่ก็เอาตัวรอดได้ ตอนที่พูดไม่เป็น ไปถึงใหม่ ๆ อยากกินปีกไก่ทอดมาก ไปยืนหน้าตู้ทำท่าตีปีกให้เขาดู เขาก็ยังไม่เข้าใจ

รุ้ง: แล้วไม่ถูกกองตรวจคนเข้าเมืองจับ (IMMIGRATION DIVISION)
คุณปราณี: ป้าได้ใบเขียวแล้ว เมื่อก่อนสิถือพาสปอร์ตเฉย ๆ มันขาดไปนานแล้ว ป้าเขียนจดหมายมาเมืองไทยยังบอกเขาว่าเป็นกะเหรี่ยงอยู่นะ ตอบจดหมายเสร็จแล้วกะเหรี่ยงจะข้ามไปอีกรัฐหนึ่ง ต้องรีบตอบซะเร็ว ๆ ป้าย้ายไปเรื่อย ๆ

รุ้ง: อยู่มากี่รัฐแล้ว
คุณปราณี: หลายรัฐ ถ้าเที่ยวละก็ไปมาเกือบหมด เพราะว่าพ่อแม่เด็กเขาไปไหนก็ต้องพาป้าได้ด้วย ลูกเขาไป เขาไม่เอาป้าไปก็ไม่ได้ เขาไม่ยอมเลี้ยงลูกกันเองหรอกขาดทุน

รุ้ง: แสดงว่าชีวิตของป้าในอเมริกาสนุกและมีความสุขมากกว่า
คุณปราณี: สำหรับเวลานี้ใช่ค่ะ คือป้าไม่ต้องไปวุ่นวายอะไรกับใคร

รุ้ง: ถ้าเทียบกับเมื่อตอนอยู่กับคุณป.
คุณปราณี: ไม่ค่ะ (คุณป้าเน้นเสียงหนักแน่น) อยู่กับคุณป. สิคะมีความสุข ไอ้อยู่ตอนนี้น่ะ ป้าทำให้มันสุขไปเอง คือเราไปอยู่อย่างงั้น ถ้ามัวนึกถึงแต่ความทุกข์แล้วจะอยู่ได้ยังไง อยู่ไม่ได้แน่ ๆ ถึงต้องทำตัวให้สนุก ให้ลืมไปเอง

รุ้ง: ทราบว่าคุณป. เป็นคนเจ้าชู้
คุณปราณี: มากเชียวหนู ก่อนมาแต่งงานกับป้า เขามีภรรยาอยู่แล้ว

รุ้ง: คุณป้าไม่ทราบ
คุณปราณี: แกบอกป้าค่ะ แกว่าเมียแกน่ะยุ่งอะไรไม่ได้ เป็นโรคลิ้นหัวใจเปิด ตัวบวมเรื่อยต้องนอนอยู่โรงพยาบาลเป็นปี ๆ ป้าแต่งงานกับคุณป. ก็ยังไม่เคยเจอคุณมุก (ภรรยาคนแรกของคุณป.) ป้าไม่ไปให้แกเห็น แล้วแกก็ไม่มารุกราน

รุ้ง: แล้วสองคนมาเจอกันได้อย่างไร
คุณปราณี: ก็ตอนที่คุณป. ไปทำหนังสือพิมพ์ปิยะมิตรรายสัปดาห์ ตอนนั้นคุณป. เจ้าชู้หนักมาก ป้าก็ไม่พูด ไม่ห้ามเลยนะ บางคนยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเป็นเมียแก เราก็นั่งทำงานกันเป็นแถว ๆ ป้านั่งข้างหน้าแก มีเด็กผู้หญิงนั่งข้างหลัง ผู้หญิงเขาจะทานข้าวกลางวันก็มาเคาะกระจกเรียกแก ป้าก็เหลียวไปดู เห็นแล้วว่ากำลังพยักเพยิดชวนกันไปกินข้าว แกก็ออกไปไม่เหลียวมองป้าเลย

รุ้ง: แล้วคุณป้าทำยังไงตอนสาวมาเคาะกระจกเรียก
คุณปราณี: ป้าไม่รู้จะทำยังไง เปิดลิ้นชัก ร้องไห้อยู่ในลิ้นชัก ไม่อยากให้ใครเห็นเรา คนมันเยอะอายเขา ข้าวกลางวันไม่ต้องกินกัน แต่ก่อนนี้ป้าตัวจี๊ดเดียวเอง อดข้าวบ่อย มันทานไม่ลง

รุ้ง: หลังจากคุณป. จีบผู้หญิงคนใหม่ ภรรยาสองคนก็เลยหันมาจับมือกัน
คุณปราณี: น้องคุณป. มาเรียกป้า บอกว่าพี่มุกอยากให้ป้าไปพบ ซึ่งป้าอยู่กับคุณป. ตั้ง 7 ปีแล้วนะคะ เพิ่งจะมาอยากพบ แกคงรู้ว่าคุณป. เจ้าชู้หนัก แล้วคงแน่ใจว่าคุณป. คงไม่ทิ้งป้าแน่ ๆ เพราะถ้าเป็นคนอื่นคุณป. ได้มาก็เลิก มีป้าเท่านั้นที่อยู่มาได้ตั้งนาน ป้าก็กลัว เดี๋ยวไปพบเขา เขาปิดประตูตี ป้าก็ตายชัก ป้าก็บอกว่าไม่เอา หนูไม่ไป คนที่มาตามเขาก็บอกให้ไปเถอะน่า พี่มุกเขาไม่ว่าอะไรหรอก เขาอยากพบจะได้พูดกันเสียที ตอนนี้พี่ชา (หมายถึงคุณป.) เจ้าชู้หนักจัง ป้าเลยผลัดเป็นพรุ่งนี้ พรุ่งนี้มารับหนูก็แล้วกัน

รุ้ง: คุณมุก เขาเรียกไปคุยอะไรบ้าง
คุณปราณี: คุณมุกเขาถามว่าทำไมป้าถึงไม่หึงบ้าง คุณป. ไปโน่นไปนี่อะไรยังงี้ป้าก็บอก เอ้า คุณพี่เป็นเจ้าของ คุณพี่ยังไม่หึงเลยแล้วหนูไม่ใช่เจ้าของสักหน่อยจะไปหึงทำไม ไม่เอาหรอก แล้วเรื่องอย่างนี้ด้วย ป้าอายเขา ไม่ทำหรอก คุณมุกก็เอ้อ อะไรวะ บ้า ๆ ซื่อ ๆ แกว่าป้าบ้า ป้ามาคิดนะคะว่าเรื่องอะไรเราจะไปดึงคุณป. มาคืนเขา ก็ปล่อยให้คนอื่นเอาไปกินไม่ดีกว่าหรือ แบ่งกันบ้าง เราก็ไม่ต้องเสียใจคนเดียว แล้วเขาก็ไม่ต้องมาหลอกใช้เราเป็นเครื่องมือ

รุ้ง: ตอนพบคุณไข่มุกครั้งแรกนั่นคุณป. ทราบมั้ย
คุณปราณี: ไม่ทราบสิคะ แต่ป้าเข้าใจว่าเป็นแผนของคุณป. ที่จะทำเจ้าชู้หนัก เพื่อว่าเมียสองคนจะได้ปรองดองกัน เจ้าชู้ให้เห็นกันจะ ๆ นี่แหละ เพราะพอคุณมุกเสียคุณป. ก็เลิกเจ้าชู้ไปเลย

รุ้ง: หลังจากนั้นล่ะคะ
คุณปราณี: หมายถึงตอนที่พี่มุกกับป้าพบกันแล้วหรือคะ ก็ดีกับป้ามาเรื่อย คุณป. เขาก็มาถามว่า ไง แม่มุกเขาเรียกเหรอ แล้วแกก็ทำท่ายักคิ้วยักหน้า ป้าตอบไปว่านึกว่าจะโดนซ้อมตายแล้ว แกบอก แหม เธอผลักแม่มุกเบา ๆ เขาก็ล้มแล้ว เพราะเขาอ้วน เตี้ย สุขภาพก็ไม่แข็งแรงตัวบวมตลอดเวลา พอเข้ากันได้ป้าก็ต้องคอยไปปรนนิบัติที่โรงพยาบาล โอ๊ย แกใช้ป้าอุตลุตเลย เดี๋ยวก็ พี่มุกอยากได้ผ้าซิ่นนะคะ อยากได้ผ้าโสร่ง ให้ป้าไปเลือกซื้อให้ ถ้าถูกใจป้าก็ต้องถูกใจพี่สิ แกรู้นิสัยป้าว่าชอบหรือไม่อย่างไร คล้าย ๆ กับทราบว่ารสนิยมป้าเป็นแบบไหน พยาบาลเขายังบอกเลยว่า เกิดมายังไม่เคยเห็นเมียน้อยเมียหลวงเข้ากันได้ดี ป้าก็บอกว่าไม่ใช่เข้ากันได้หรอก พี่มุกเขาหลอกใช้ เรารู้ตัวแต่ก็ยินดีทำให้ ไม่รู้จะไปโวยวายทำไม

รุ้ง: ปรึกษากันบ้างหรือเปล่าเกี่ยวกับเรื่องของคุณป.
คุณปราณี: พี่มุกเขาให้ป้าตามหึงคุณป. บ้าง บอกนี่เขาจะไปแต่งงานกับผู้หญิงอื่นอีกแล้วนะ เราก็...แต่งก็แต่งไปเหอะ เขาก็ไปแต่งจริง ๆ

รุ้ง: แต่งงานอีกหรือคะ
คุณปราณี: ค่ะ แต่งงานจริง ๆ แต่งงาน รดน้ำ พี่มุกยังมาบอกให้ป้าไปหึงเขาซี่ ป้าบอกไม่เอา ยิ่งไม่เอาใหญ่เลย คนเยอะแยะ คุณป. เขาก็บอกนะว่า ปล่อยเถอะ ไม่งั้นพี่เสียเหลี่ยม คือแกทุ่มเงินไปกับผู้หญิงคนนี้เยอะ ถูกผู้หญิงคนนี้หลอกกิน แล้วแกก็ยังไม่ได้เขา แกกลัวโดนลบเหลี่ยม ต้องเอาให้ได้ก่อน

รุ้ง: แต่งแล้วคุณป. ไปอยู่กับเจ้าสาวนานมั้ย
คุณปราณี: 2-3 วันเท่านั้นเองค่ะ เจ้าบ่าวก็เผ่นกลับมาแล้ว เผ่นมาก็พาป้าไปดูมวย แม่ยายพ่อตาของเจ้าสาวก็ไปตามที่สนามมวย ไปเจอป้ากับลูกชายคุณป. ด้วยเขาก็เข้ามาถามว่าจะเอายังไง มาแต่งงานกับลูกสาวฉัน แขกเหรื่อเยอะแยะ แล้วทำไมมานั่งกับผู้หญิงอื่นล่ะ ลูกสาวฉันร้องไห้อับอายขายหน้าเขาหมด แกก็ยืนยิ้มเฉย ๆ ตอบไปว่า ผู้หญิงที่ไหน ก็เมียผมนะสิ

รุ้ง: พ่อแม่เขาว่าอย่างไร
คุณปราณี: ก็โกรธ แต่ก็ทำอะไรแกไม่ได้ หลังจากนั้นแกก็ไม่ไปหาผู้หญิงคนนั้นอีกเลย

รุ้ง: แล้วแกยังมีเจ้าชู้อีกมั้ยคะ
คุณปราณี: มี ป้ามีเรื่องอัดอั้นตันใจเยอะแยะ ที่ป้ายอมเล่าวันนี้เพราะคิดว่ามันสิ้นสุดชีวิตแล้ว ป้าเหลือแค่นี้แล้ว ป้าก็ไม่อยากจะเก็บเอาไว้ในใจคนเดียว ว่าเรามีทุกข์ยังไง ถ้าใครโดนอย่างนี้บ้าง ถึงจะรู้ว่าหัวใจเราเนี่ยมันแตกสลายร้องไห้จนขี้เกียจจะร้อง

รุ้ง: แสดงว่าเขาไปทำเจ้าชู้ไว้มาก
คุณปราณี: แกเจ้าชู้ขนาดที่ว่า เราเห็นเขาขับรถไปกับผู้หญิงอื่นผ่านไปต่อหน้าต่อตาเรา ป้าเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยถุยน้ำลาย พอทำไปแล้วก็เดินตัวแข็งขึ้นรถรางไป วันหลังคุณป. มาเล่าให้ฟังว่าผู้หญิงเขาเห็น ก็ถามคุณป. ว่า เอ๊ะ คนนั้นทำอะไรน่ะพี่ คุณป. ตอบไปว่า คงเป็นบ้ามั้ง แหม ก็ป้าโกรธนี่

รุ้ง: ลักษณะภรรยาคุณป. นี่ต้องทนให้ถึงที่สุด
คุณปราณี: ค่ะ ป้ายอมรับ ไม่ทราบว่าเพราะอะไรถึงทน เป็นเพราะว่าเรารักแกมากมั้ง แต่บางทีป้าก็เบื่อแกนะ เวลาแกหงุดหงิดอะไรยังเงี้ย เราก็ อื้อ...น่ารำคาญ พวกนักเขียนนี่เจ้าอารมณ์นะหนู มาอยู่ใกล้ชิดเขาแล้วจะรู้

รุ้ง: เปรียบเทียบผู้หญิงรุ่นป้ากับสมัยนี้
คุณปราณี: ก็อิจฉาสมัยนี้แย่สิคะ เพราะเขามีความรู้ดีกว่าป้า ป้านี่เหมือนกับต้องยอมเป็นทาสเขาเลย เพี่อนคุณป. เขายังว่าดู ๆ คุณป้ารับใช้แต่คุณป. ลูกเดียว มีแต่ความรักให้เขา เขาต้องการอะไรป้าก็ทำให้ นอกจากเขาบอกป้าเชือดคอให้ดู คงไม่ยอมเชือดนะ ป้ากลัวตายเหมือนกัน ถึงจะรักอย่างไรก็เถอะ (หัวเราะ)

รุ้ง: เคยคิดว่ารู้อย่างนี้จะไม่แต่งกับคุณป. มั้ย
คุณปราณี: อ๋อ ไม่คิดหรอกค่ะ ช่างเหอะ ป้าถือว่าป้าตัดสินใจถูกแล้ว

รุ้ง: คุณป. เป็นอะไรถึงเสียคะ
คุณปราณี: แกเป็นเบาหวาน เป็นมาสิบกว่าปีแล้ว ผอมเลย แกเคยอ้วน ป้ารักแกเพราะแกอ้วนลงพุงนี่แหละ สง่าดีละ สมาร์ท ตอนแกเสียใหม่ ๆ นะคะ แกมาหาป้าเรื่อย ในความรู้สึกของป้า จะเป็นเพราะป้ารักแกมากหรือไงก็ไม่ทราบนะคะ อย่างเดินอยู่...ป้าเห็นแกยืนอยู่แล้ว ตอนเสียแต่งตัวยังไงก็มายังงั้น

(คุณป้าหยุดคำพูดทิ้งช่วงหายไปคล้ายกับนึกทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมา บรรยากาศในการสนทนาเริ่มเปลี่ยน เพราะพวกเราเห็นคุณป้าพยายามกลั้นน้ำตาที่รื้นออกมาที่ขอบตา)

คุณปราณี: นุ่งกางเกงแพรตัวเดียว พอป้าเดินสวนแก แกก็ดึงป้าไปกอด ๆ แล้วก็ไปพูด ไม่เคยพูดเลย บางทีป้านอนหลับแกมานั่งที่หน้าเตียง เราก็ เออ...พี่ไปไหนมา แกก็ก้มตัวลงมากอดป้า

รุ้ง: แล้วตอนนี้
คุณปราณี: ไม่แล้วค่ะ แกไม่มาหา 4-5 ปีแล้ว ป้าไม่ฝันถึงด้วย ทุกวันนี้ถ้าครบรอบคุณป. ป้าก็จะส่งเงินมาทำบุญที่เมืองไทย ไม่รู้จะตอบแทนเขาอย่างไรนะคะที่เคยอยู่ด้วยกันมา นอกจากทำบุญไปให้

รุ้ง: เสียกี่ปี่แล้วคะ
คุณปราณี: 20-21 ปีได้ ตอนที่แกเสียอายุ 58 ปี ส่วนป้าก็ 48 ปี ตอนนั้นร้องไห้ทุกวัน

รุ้ง: ถ้างั้น ตอนที่อยู่ด้วยกันไม่เคยห่างกันเลย
คุณปราณี: ใช่ค่ะ และอีกอย่างไม่ค่อยจากกัน ตอนสุดท้ายของชีวิตอยู่กัน 2 คนจริง ๆ มันก็เลยยิ่งว้าเหว่หนักเข้าไปอีก ลูกหลานเขาก็ต่างคนต่างไป อธิบายไม่ถูกว่าความว้าเหว่ทำไมมันมากมายอย่างนี้ พอออกจากที่ทำงานป้าอยู่ขนส่งสายใต้นะคะ พอขึ้นรถกลับบ้านใจจะเสีย ป้าต้องร้องไห้ทุกครั้งที่ขึ้นรถเมล์ คือว่าเขาอยู่เราไม่ลำบาก ถึงจะลำบากเราก็ว่าเราสบาย เรามีเพื่อนที่จะพูดกัน คุยกัน ป้าไม่อยากอยู่เล้ย แต่ก็ไม่เคยคิดฆ่าตัวตายนะ กลัวหายใจไม่ออกฆ่าตัวตายนี่บาปนะหนู คนเราเกิดมามีเวรมีกรรมอยู่แล้ว ป้าก็พยายามบังคับใจตัวเองให้นึกถึงความไม่ดีของเขา นึกว่าเขาเป็นคนเจ้าชู้ จะได้ไม่ต้องร้องไห้ แต่ใจมันก็นึกถึงแต่สิ่งดี ๆ ของเขา

รุ้ง: แสดงว่าที่อยู่ด้วยกัน เขาก็ยังดีกับเรา
คุณปราณี: ดีมาก ดีมาก ๆ (คุณป้าเน้นเสียงว่าดีจริง ๆ) ยกเว้นเรื่องเจ้าชู้แล้ว ทุกอย่างก็ดีหมด ป้าถึงรักแก แล้วเหมือนกับว่าแกจะรู้นะคะว่า ถ้าแกตายไป ป้าจะต้องลำบาก ก่อนแกจะเสียแค่สองปี แกก็พาป้าไปจดทะเบียนสมรส ไอ้ป้าน่ะคัดค้านแกนะคะ ไม่อยากไป อายเขา อายนายอำเภอ นายอำเภอยังพูดว่าอะไรกันครับ ทำไมเพิ่งมาจดทะเบียนเอาป่านนี้เพื่อผลประโยชน์หรือครับ คุณป. ก็ตอบไปว่า ครับ

รุ้ง: เดี๋ยวนี้ยังเหงาอยู่หรือเปล่า
คุณปราณี: ก็มีนิด ๆ หน่อย ๆ แต่น้อยกว่าตอนคุณป. เสีย ป้าไม่อยากพูดถึงแก พูดแล้วมันเหมือนกับไปเรียกร้องความเหงากลับมา

ก่อนจบบทสนทนาวันนั้น เราถามคุณป้าว่า เมื่อกลับไปยังอเมริกาแล้ว จะหวนกลับมาเมืองไทยอีกมั้ย คุณป้าตอบคำถามสุดท้ายของเราว่า
"ไม่ค่ะ ไม่แล้ว ไม่อยากกลับมาแล้ว ทำไมหรือคะ ป้าจะมาทำไม อยู่นี่แล้วทำอะไรรับประทานละคะ อยู่ที่นี่เหงากว่าอยู่โน่น เพราะไปไหนมาไหนไม่ได้ ป้าจากเมืองไทยไปนานมาก ตั้งแต่ไปก็เพิ่งกลับมาครั้งนี้เป็นครั้งแรกไม่ค่อยรู้จักใคร อะไร ๆ มันก็เปลี่ยนแปลงไป ถนนหนทางก็ไม่ค่อยรู้ อีกอย่างเราแก่แล้ว ใครเขาจะมาจ้างเราทำงาน ไม่มีงานแล้วจะเอาเงินที่ไหนใช้ ขอเขาใช้หรือ ป้าไม่เอาหรอก อยู่โน่นดีกว่ารับจ้างเลี้ยงเด็ก เลี้ยงคนแก่ไปตามประสา"

และปรานี อินทรปาลิต ผู้หญิงไทยวัย 72 ปี ดวงใจของนักเขียนไส้แห้งก็ลาบ้านเกิดเมืองนอนไปแล้วอย่างเด็ดเดี่ยวและโดดเดี่ยว สู่เมืองลุงแซมด้วยความมุ่งมั่นที่จะดำรงชีวิตตัวเองให้อยู่รอด โดยปราศจากญาติมิตร หรือแม้แต่ลูกหลานให้ห่วงหา เธอไปอย่างสมศักดิ์ศรีแห่งตน ตามกฏเกณฑ์ของสังคมแบบ 'ตัวใครตัวมัน' นั่นแหละ





All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.