ข่าวสดหรรษากับสามเกลอ (1/3) |
ที่มา: | หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม 2536 |
สนับสนุนข้อมูลโดย: | คุณ Newcomer (ขอบคุณมากๆ ครับ) |
ตีพิมพ์บน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาติ เพื่อการศึกษา | |
พิมพ์โดย: | คุณหมอดิเรก สมาชิกหมายเลข 00004 |
เสวนา "หัสนิยาย" พล นิกร กิมหงวน "ตลกอมตะ" ของ "ป.อินทรปาลิต"
6 โมงเย็น, ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน "ข่าวสดหรรษา" ได้จัดเสวนาโต๊ะกลม (เล็กๆ) ขึ้นที่สถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์
เป็นการเสวนาในวาระครบรอบ 25 ปี แห่งการจากไปของ "ป.อินทรปาลิต" นักเขียนเรื่อง "หัสนิยาย" อันลือลั่นในอดีต ซึ่งลาลับจากโลกไปเมื่อวันที่ 25 กันยายน 5211
ประเด็นสำคัญที่เราเสวนากันวันนั้น ส่วนใหญ่พูดถึงนวนิยายเรื่องเอกของท่าน นั่นคือ "พล นิกร กิมหงวน"
ทีมงานได้ประชุมกันก่อนหน้านี้ว่า เราจะเชิญใครมาพูด, เราเห็นพ้องกันว่าสมควรเชิญ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร มากที่สุด เพราะท่านผู้นี้กล่าวได้ว่า เป็นผู้ที่เข้าถึงบทบาทและเรื่องราวของหัสนิยายชุดสามเกลอ "พล นิกร กิมหงวน" นี้มากที่สุด
มากที่สุดในเมืองไทย ชนิดที่เรียกว่า "เข้าถึง" อย่างลึกซึ้งก็ว่าได้ !
สำหรับประวัติ ดร.วิชิตวงศ์, คลุกคลีอยู่กับวงการหนังสือพิมพ์อยู่พักใหญ่ ก่อนจะหนีไปทำ "ด๊อกเตอร์" ที่ฮาร์เวิร์ด แล้วกลับมาสอนหนังสือจนมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ขณะเดียวกันก็เขียนหนังสือควบคู่กันไปด้วยใน "ฟ้าเมืองไทย" ที่มีอาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็น บ.ก.คอลัมน์ "ฟ้าหลายสี"
นอกจากนี้ยังเคยเป็นอนุกรรมการบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสถาน สมัยที่ยังไม่ได้บรรจุคำว่า "เชย" หนึ่งในหลายสำนวนของ "ป.อินทรปาลิต" ไว้ในพจนานุกรม และยังเป็นนายกสภาสถาบันเทคโนโลยีและสังคม พร้อมทั้งเป็นประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
แล้วยังจัดรายการวิทยุอีกหลายสถานีไปด้วยในขณะเดียวกัน ล่าสุดจัดอยู่ที่กองพลที่ 1 เอฟ.เอ็ม. 98.0 เมกะเฮิร์ตซ์ รายการ "คงอยู่คู่ไทย" ทุกวันจันทร์, พุธ และศุกร์ เวลา 5 โมงถึง 6 โมงเย็น
และนอกจาก ดร.วิชิตวงศ์ แล้ว การเสวนาครั้งนี้ยังมี คุณธเนศร์ เนติโพธิ์ นักเขียนบทละครซึ่งเป็นแฟน "ป.อินทรปาลิต" ตัวยงคนหนึ่งเข้าร่วมด้วย หร้อม "ข่าวสดหรรษา" ครบทีม
การเสนาใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง เนื้อหาสาระที่ได้ทำให้เรารู้จัก "สามเกลอ" มากขึ้น กว่าที่ได้รู้จักจากตัวหนังสือของเจ้าของบทประพันธ์
นี่คือการเสวนาในวันนั้น
ข่าวสด: ท่านด๊อกเตอร์ช่วยพูดถึงนิยายสามเกลอหน่อยครับ ในฐานะที่เป็นแฟน ป.อินทรปาลิต อย่างเหนียวแน่น
ดร.วิชิตวงศ์: ตอนแรกของสามเกลอเป็นเรื่องของ พล กับ นิกร แค่ 2 คน ผมยังเคยนั่งคิดว่า ถ้าทั้ง 2 คนมีชีวิตอยู่ถึงทุกวันนี้จะมีอายุประมาณเท่าใด มันน่าสนใจนะ เพราะเราจะได้รู้ว่าทั้ง 2 คนนี้ อยู่ในยุคสมัยใดมาก่อน ผมว่าอายุของตัวละครในเรื่องนี้คงประมาณ 80 ปี ถ้ามีชีวิตอยู่ถึงทุกวันนี้ อย่าง พล พัชราภรณ์ นี่คงแก่กว่าผม คิดๆแล้วผมว่าพลคงเกิดราว พ.ศ. 2458 ส่วนนิกรอาจจะอ่อนกว่าพลปีสองปี คงเกิดราว พ.ศ.2459 สมัยที่ท่าน (ป.อินทรปาลิต) มีชีวิตอยู่ ราว พ.ศ. 2510 ผมเคยคิดจะไปเยี่ยมเพื่อจะไปบอกให้แกรู้ว่า ผมเป็นแฟนของท่านคนหนึ่งที่ติดตามอ่านงานของท่านมาตลอด ขณะนั้นท่านเขียน "สังเวียนชีวิต" ประสบการณ์ในยกที่ "58" ให้กับหนังสือพิมพ์เดลินิวส์วันอาทิตย์ ที่ผมเป็นผมทุกวันนี้ เพราะผมได้รับอิทธิพลจากตัวท่านมามากมาย เช่น ความรู้สึกนึกคิดอะไรต่อมิอะไร ได้อิทธิพลจากท่านโดยผ่านงานเขียนของท่านทั้งหมด โดยเฉพาะสามเกลอ บางคนความคิดความอ่านจะได้อิทธิพลจากครูบาอาจารย์หรือพ่อแม่ แต่ผมได้จาก ป.อินทรปาลิต
ข่าวสด: จุดไหนที่ท่านว่าชัดเจนที่สุดที่ได้รับอิทธิพลจาก ป.อินทรปาลิต
ดร.วิชิตวงศ์: ที่ชัดเจนที่สุดคือลักษณะการมองสังคม, ผู้คนต่างๆ ตามทัศนคติของเรา ยกตัวอย่างง่ายๆ ในยุคของพล นิกร กิมหงวน ตัวละครเป็นผู้ที่รักความยุติธรรม จุดนี้เห็นได้ชัดที่สุด ใครถูกรังแกไม่ได้เป็นต้องเข้าช่วยเหลือ ตรงนี้แหละที่ผมได้รับมาเต็มเปา ทนไม่ได้ที่เห็นใครถูกรังแก แต่อิทธิพลส่วนนี้ผมรู้สึกว่ามันไม่สู้ดีนัก เพราะบ้านเมืองเราทุกวันนี้ถ้าเราไปรับรู้เรื่องอะไรต่างๆ มากไม่ได้ มันไม่ดี จะทำให้เราเดือดร้อน
ข่าวสด: แล้วท่านด๊อกเตอร์คิดว่าสังคมทุกวันนี้เราควรวางตัวอย่างไร
ดร.วิชิตวงศ์: ผมว่าอยู่แบบใครเป็นอะไรก็ช่างหัวมันดีกว่า อย่าไปยุ่งเกี่ยวอะไรมาก เราถึงจะอยู่ในโลกนี้ได้ ถ้าคุณเห็นใครเดือดร้อนหรือถูกรังแกแล้ว ถ้าเข้าไปยุ่งคุณอาจถูกฆ่าตายได้ อีกอย่าง ป.อินทรปาลิต จะสอนไม่ให้เราดูถูกคนจน, คนด้อย ท่านเน้นให้มีเมตตาต่อกันไว้ อีกหลายๆ อย่างที่ท่านบอกผ่าน ตัวละครสามเกลอไว้ อิทธิพลเหล่านี้ผมได้รับมาตั้งแต่เด็กที่เริ่มอ่านงานของท่าน
ข่าวสด: มองบุคลิกของตัวละครในสามเกลอตามที่ผู้เขียนคิดจะถ่ายทอดอย่างไร
ดร.วิชิตวงศ์: ผมคิดว่า ป.อินทรปาลิต เขียนโดยไม่ได้ตั้งอกตั้งใจอะไรมาก ไม่ได้เขียนเพื่อสั่งสอนคน ท่านเขียนไปตามนิสัยของนักประพันธ์ แต่ท่านคงจะสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ผ่านตัวละครออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ จนคนมองว่าท่านเขียนนิยายเพื่อสร้างสรรค์สังคมอะไรอย่างนั้น จุดนี้ที่มันดี เพราะมันเป็นไปตามธรรมชาติ ไดอาล็อกหรือตัวละครมันจะสะท้อนตัวเองออกมา และบางอย่างท่านก็เขียนสิ่งที่ตรงกันข้ามกับตัวเอง คือท่านเขียนให้ตัวละครนี่ดื่มเหล้า ทั้งที่ตัวท่านเองนี่ไม่ดื่ม ซึ่งท่านเขียนไม่ถูก เพราะถ้าดื่มเหล้าตามพล นิกร กิมหงวนอย่างนั้น ผมว่าถ้าเป็นคนจริงๆ คงตายไปนานแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะกินจะดื่มแบบในเรื่อง แต่ท่านสูบบุหรี่ สำหรับผมเองที่ดื่มหล้านี่ มันก็ได้อิทธิพลจากสามเกลอนี่แหละ ถ้าถามผมว่า ทำไมถึงดื่มเหล้า ผมก็จะบอกว่า ได้อิทธิพลมาจากท่าน หรือเรื่องอารมณ์ขันผมก็ได้รับมาจากท่านเหมือนกัน
ข่าวสด: ฉากในเรื่องพล นิกร กิมหงวน ทุกวันนี้ยังหลงเหลืออยู่บ้างหรือเปล่า
ดร.วิชิตวงศ์: แกเขียนถึงสถานที่ต่างๆไว้หลายที่ เช่น ต้นโศกหน้าวังปารุสก์ ซึ่งเป็นจุดที่พลกับนิกรไปยืนรอกิมหงวน เพื่อเข้าไปเที่ยวงานรัฐธรรมนูญ ผมก็คนแถบนี้ ซึ่งท่านได้ดึงไปเป็นฉากในเรื่อง เลยเห็นสถานที่ต่างๆ ที่ท่านระบุไว้ในเรื่อง เพราะฉะนั้นเวลาอ่านเจออะไร ทำให้ผมนึกภาพออกทันที เพราะสมัยเด็กผมเรียนวชิราวุธ บ้านอยู่ราชวัตร ต้องเดินผ่านแถวนี้ตลอด
ข่าวสด: พอจะยกตัวอย่างสถานที่ต่างๆ ในเรื่องที่ ป.อินทรปาลิตพูดถึงได้หรือไม่
ดร.วิชิตวงศ์: บ้านของพล พัชราภรณ์เนี่ยอยู่ตรง พญาไท น่าจะเป็นแถวโรงหนัง เพรสซิเดนท์ ปัจจุบัน เพราะ ป.อินทรปาลิต บรรยายไว้ในเรื่องลุงเชยตื่นกรุงว่า พลรับตัวลุงเชยมาจากหัวลำโพง ขับรถผ่านมาทางด้านหน้าวังสระปทุมข้ามสะพานหัวช้างแล้วเลี้ยวขวาเข้าบ้านพล พัชราภรณ์ ฉะนั้นถ้าเป็นโรงหนังเพรสซิเดนท์ก็น่าจะใกล้เคียงที่สุดแล้ว สำหรับบ้านกิมหงวนน่าจะอยู่ย่าน พาหุรัด ต้องเข้าตรอก ซึ่งสมัยก่อนนี่มันมีมาก แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ผ่านไปนานคงจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว สมัยก่อนมันเป็นตรอกไทยแท้รถผ่านไม่ได้ ต้องจอดด้านนอกแล้วเดินเข้าไป ส่วนห้าง ศิวิไลซ์ เดี๋ยวนี้ก็อยู่ในย่านพาหุรัดนี่ละ และที่ ตลาดสดบางรัก ในปัจจุบันน่าจะเป็นห้างของ พล พัชราภรณ์ แล้ว บ้านการุณวงศ์ ของ นิกร หรือ เจ้าคุณวิจิตรฯ นี่ผมว่าอยู่ตรงถนนเพชรบุรีตัดระหว่างยมราชกับประตูน้ำ แต่ฝั่งซ้ายหรือขวานี่ในเรื่องไม่ปรากฎ ถ้าเลยช่วงนี้ไปเป็นเพชรบุรีตัดใหม่ผมว่าไม่น่าจะใช่ สมัยก่อนย่านเพชรบุรีเป็นบ้านของข้าราชการเก่าแก่ ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ แต่มีตึกแถวใหม่บดบังหมดแล้ว บ้านเจ้าคุณ, คุณพระอะไรก็อยู่แถวนั้น ไม่ไกลจากบ้านพัชราภรณ์นัก ส่วนบ้าน เจ้าคุณปัจจนึกฯ นั่นอยู่แถวรองเมือง แต่ไม่ทราบว่าซอยอะไร สมัยก่อนยังไม่ได้เป็นย่านธุรกิจเหมือนทุกวันนี้ เจ้าคุณคิดจะออกมา "มอร์นิ่งวอล์ก" จากรองเมืองมาบ้านพัชราภรณ์ก็มาได้ ผ่านสะพานกษัตริย์ศึกตรงมาที่ปทุมวันเลี้ยวซ้ายมาที่บ้านพัชราภรณ์ ไปที่ประตูน้ำซึ่งเหมือนกับจตุจักรในปัจจุบัน
ข่าวสด: ท่านด๊อกเตอร์เคยหยิบแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ของ ป.อินทรปาลิต มาเขียนใน "ฟ้าเมืองไทย" ใช่ไหมครับ
ดร.วิชิตวงศ์: ครับ, ท่านเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ไว้ด้วย เช่น ตอนไปสู่อนาคต ผมเคยได้หนังสือเล่มนี้จากคุณปริญญา อินทรปาลิต หลานชายของท่าน ผมเคยเอาไปเขียนลงในฟ้าเมืองไทย ซึ่งท่านเขียนถึงเมืองไทยในอนาคตไว้ว่า จะไม่พูดภาษาไทย เลิกพูดภาษาไทยไปหลายปีแล้ว และประมาณปี 2540 กว่าๆนี้แหละ ดร.ดิเรก (ตัวละครตัวหนึ่งใน พล นิกร กิมหงวน) สามารถคิดค้น "ไทม์แมชชีน" ได้ พาสามเกลอไปโลกอนาคต เห็นรถลอยฟ้า, ทางด่วน และห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มี อย่างตอนหนึ่งในสามเกลอนี่ วันหนึ่งที่เขาไปที่บ้านพล พัชราภรณ์ กัน แล้วไปเจอคนใช้พูดภาษาอังกฤษ ไม่ยอมพูดภาษาไทย ท่านบอกว่ารัฐบาลได้ประกาศใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ ผมคิดว่าที่ท่านคิดอย่างนั้นเพราะคงรำคาญคนไทยเต็มทนที่พูดไทยคำฝรั่งคำ คงคิดว่าสักวันหนึ่งคนไทยคงพูดภาษาอังกฤษอย่างเดียวแน่
ข่าวสด: กิมหงวนเข้ามาในก๊วนสามเกลอตอนไหน
ดร.วิชิตวงศ์: สองเกลอตอนแรกตีพิมพ์ประมาณปี 2482 แต่พอท่านเขียนไปได้สัก 10 ตอน กิมหงวนก็เข้ามา สำหรับอาชีพของสามเกลอนี่จะเป็นพ่อค้าทั้งหมดนะครับ เนื้อเรื่องดำเนินไปตามเหตุการณ์ของบ้านเมือง เช่น เกิดกรณีพิพาทของฝรั่งเศสกับอินโดจีน เริ่มรบกันปลายเดือน พ.ย.2483 ปลายเดือน ธ.ค. ก็เป็นช่วงสามเกลอไปเที่ยวงานรัฐธรรมนูญกัน กระทั่งวันที่ 5 ม.ค. เป็นวันรบใหญ่ กองทัพบูรพารุกเข้าไปในอินโดจีนตีด่านปอยเปต จนปลายเดือน ม.ค. ก็พักรบ พล นิกร กิมหงวน ซึ่งไปรบก็กลับมาเที่ยว แต่สมัยนี้ที่เอามาพิมพ์ไม่มีการรักษาชื่อเดิมของเรื่องเอาไว้ ทำให้สับสนพอสมควร ไม่มีการเรียงลำดับเล่ม เช่น เรื่อง อายผู้หญิง ซึ่งเป็นเรื่องแรก แต่ปัจจุบันกลับเอาไปตีพิมพ์อยู่ในตอนที่ 8 ของชุดสามเกลอ คือ ผมว่าสำนักพิมพ์ไม่มีจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์
ข่าวสด: ท่านด๊อกเตอร์มีความคิดเห็นอย่างไรกับการที่มีการนำหัสนิยายชุดสามเกลอมาเล่นละคร
ดร.วิชิตวงศ์: ผมว่าไม่ประสบความสำเร็จนะ คือการที่จะเอาใครมาแสดงเป็นสามเกลอนี่ คาแร็กเตอร์มันต้องได้ก่อน การเลือกดาราที่จะเล่นนี่สำคัญมาก พล นิกร กิมหงวน ทำมากี่เรื่องกี่เรื่องก็ไม่ประสบความสำเร็จ คนดูไม่ยอมรับ เพราะคนไทยใจแคบ พอมีเรื่องจะต้องอ้างถึงบรรพบุรุษนี่ไม่ได้เลย ส่วนหนึ่งเพราะคนอ่านเขาสร้างภาพของตัวละครเอาไว้ในใจแล้ว แต่คนที่มาเล่นมันไม่ใช่ มันจะหาผู้กำกับฯและตัวละครที่ถ่ายทอดเรื่องออกมาอย่างซาบซึ้งจริงนี่ยาก อย่างคนที่มาสวมบทนิกรนี่ยุคหนึ่งเอา คุณสมพงษ์ พงษ์มิตร มาเล่น นั่นบุคลิกมันคนละโยชน์กันเลย เพราะคนสร้างเข้าใจว่าพล นิกร กิมหงวน เป็นเรื่องตลกเลยเอาตลกมาแสดง แต่สามเกลอนี่ถึงตลกยังไงก็ตลกผู้ดี ที่เอามาเล่นมันคนละแบบกัน กลายเป็นตลกคนใช้ไป ถ้าเล่นบท "ไอ้แห้ว" น่ะพอได้
ธเนศร์: เราเห็นใครมาเล่นพล นิกร กิมหงวน แล้วมันไม่ขำเลย เพราะเรารู้สึกตลอดเวลาว่ามันไม่ใช่
ข่าวสด: แล้วในสายตาคุณธเนศร์ล่ะครับ เห็นว่าบุคลิกของพล นิกร กิมหงวนควรเป็นอย่างไร
ธเนศร์: ทั้งพลและนิกรเป็นคนรูปร่างเล็ก, ขาว ส่วนกิมหงวนจะผอมสูง ตัวใหญ่หน่อย เพราะในเรื่องสามเกลอ เขาขึ้นชกมวยรุ่นเวลเตอร์เวตกับ เยน วอถอง นักมวยแชมป์ตะวันออกไกล ซึ่งกิมหงวนน่าจะสูงสัก 6 ฟุต 3 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 67 กิโลฯ เพราะชกมวยรุ่นนี้
ข่าวสด: คุณธเนศร์คิดว่ามีเหตุผลอื่นอีกหรือเปล่าที่ละคร พล นิกร กิมหงวน ไม่ประสบผลสำเร็จ
ธเนศร์: อาจเป็นเพราะคำบรรยายของท่านมันดีอยู่แล้วก็ได้ คือเวลาเราอ่านแล้วเราจะเห็นภาพ มีอารมณ์ร่วมมากกว่า แต่ละครจะถ่ายทอดออกมาไม่ได้ เช่น กิมหงวนทำคอย่น พออ่านแล้วนึกภาพก็ขำ แต่คุณลองทำคอย่นจริงๆคุณทำไม่ได้หรอก หรืออย่างกิริยาย่อขาต่ำกระโดดตัวลอยนี่ก็ทำไม่ได้ ส่วนอย่างที่ผมอ่านแล้วขำก็เช่น "ทำตาปริบๆ, ยิ้มพราย" คือเราเห็นภาพแต่เราทำไม่ได้
ดร.วิชิตวงศ์: อย่างไอ้แห้วที่เป็นคนใช้ เวลาเข้าหาหรือรับใช้ท่านเจ้าคุณ มันเคยยักคิ้วให้ท่านเจ้าคุณด้วยความลืมตัว ซึ่งท่านก็ใช้สำนวนว่า "เย็นวาบไปทั้งตัว" ซึ่งนักประพันธ์รุ่นหลังยังไม่มีความสามารถที่จะบรรยายแนบเนียนเท่า ป.อินทรปาลิต
ข่าวสด: กล่าวกันว่างานของ ป.อิทรปาลิต จะเป็นตลกในตัว คือเวลาท่านเขียนไม่ได้ตั้งใจให้ตลก มีมุขตลกแยกออกมาเหมือนนักเขียนสมัยนี้
ดร.วิชิตวงศ์: ใช่ครับ, และท่านก็ไม่ได้นึกว่าเรื่องจะยืนยาวมาถึง 30 ปีทุกวันนี้ด้วย วรรณกรรมตลกของเรามีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ฉะนั้นความคิดเรื่องตลกในยุคนั้นมันไม่แปลก ซึ่งพอ ป.อินทรปาลิต สร้างนิยายเรื่องนี้ขึ้นมาคนก็ติด ตัวละครแต่ละตัวมีคาแร็กเตอร์แตกต่างกันไป, พฤติกรรมใส่เข้าไป, เหตุการณ์บ้านเมือง, สิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งท่านเข้าใจถูกบ้างผิดบ้างก็แล้วแต่ แต่โดยรวมแล้วท่านเขียนเรื่องตามกระแสความคิดของคนส่วนใหญ่ในยุคนั้น นอกจากเราจะได้ความบันเทิงแล้ว เรายังได้รู้ประวัติศาสตร์ในยุคนั้นอีกด้วย ความคิดของคนยุคนั้นก็รู้ ที่สำคัญท่านจะเน้นความยุติธรรมมาก ซึ่งไม่เหมือนนักเขียนสมัยนี้ที่เน้นสังคมรวมแบบแม็กโคร แต่สมัยก่อนจะเน้นแบบไมโคร คือเน้นลักษณะบุคคล
ข่าวสด: คิดว่าแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ท่านรับอิทธิพลมาจากไหน
ดร.วิชิตวงศ์: ผมว่าแกคงไม่ตั้งใจหรอก แต่เป็นเพราะคนสมัยนั้นเขาตื่นตัวเรื่องนี้แกเลยเขียนออกมา
ข่าวสด: นักเขียนรุ่นหลังได้รับอิทธิพลจากท่านเยอะนะครับ
ดร.วิชิตวงศ์: ครับ, อย่าง คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ยังเคยยอมรับกับผมว่า แกเขียนหนังสือได้ไม่ถึงกระผีกของ ป.อินทรปาลิต
ธเนศร์: "พนมเทียน" ยอมรับว่าได้อิทธิพลมาจาก ป.อินทรปาลิต มามาก
ดร.วิชิตวงศ์: แต่รุ่นหลังจากนี้ผมว่าไม่มี แต่ถ้าเป็นรุ่น คุณอิสรา อมันตกุล หรือ คุณสนิท เอกชัย ลูกศิษย์ของคุณอิสราเนี่ย ยอมรับว่ารับอิทธิพลมาจาก ป.อินทรปาลิต หมด แม้กระทั่ง คุณสันต์ เทวรักษ์ ซึ่งเป็นนักประพันธ์รุ่นเดียวกันก็ยอมรับในความยิ่งใหญ่ของ ป.อินทรปาลิต - การเขียนหนังสือให้คนอ่านได้ นี่ผมถือว่ายิ่งใหญ่นะ คือคนเราจะวิเศษวิโสมาจากไหนก็ตาม แต่ถ้าเขียนหนังสือไม่มีคนอ่าน หรือพูดไม่มีคนฟังมันก็จบ
ธเนศร์: เอาง่ายๆ เรื่องการเดินทางสู่อนาคตนี่ ป.อินทรปาลิต เขียนก่อนที่ สตีเฟ่น สปีลเบิร์ก จะทำเรื่อง แบ๊ก ทู เดอะ ฟิวเจอร์ เสียอีก
ดร.วิชิตวงศ์: เรื่องแนวคิดวิทยาศาสตร์ผมว่า ป.อินทรปาลิต เอามาจากหนัง เพราะแกชอบดูหนังวิทยาศาสตร์ อย่างเรื่อง อินวิซิเบิ้ลแมน แกก็เอามาดัดแปลงในเรื่อง "ล่องหน" หรือ "จอมโจรแบกแดด" และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีแนวคิดเรื่องไปดาวอังคาร เพราะครูวิทยาศาสตร์สมัยนั้นจะพูดกันว่า ดาวอังคารมีคนอยู่ เจ้าคุณปัจจนึกฯเลยต่อจรวดขึ้นมาแถวทุ่งมหาเมฆ
ข่าวสด: สรุปแล้ว ป.อินทรปาลิต เขียนนวนิยายโดยยึดฉากจากสถานที่จริงตลอด
ดร.วิชิตวงศ์: สมัยนั้นแกจะไปหาที่ไหนล่ะ อย่างโรงถ่ายหนังตราลิงสามหัวนี่กะว่าคงอยู่แถวสนามเป้า
ดร.วิชิตวงศ์: ความจริงตัวละคร พล นิกร กิมหงวน นี่มีอีกชุดนะครับ ช่วงที่เกิดสงครามท่านได้สร้างขึ้นมาแทน พล นิกร กิมหงวน แกคงนึกเซ็งหรือไงไม่ทราบ ตัวละครตัวใหม่ของแกชื่อ "วิทย์" กับ "เทพ" คนหนึ่งเป็นนักร้อง อีกคนเป็นนักประพันธ์ ไม่มีสตางค์ทั้งคู่ อยู่กันอย่างอดๆอยากๆ แต่เรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะภาษาถูกจำกัด เรื่องนี้มีคนวิเคราะห์กันว่า ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้รับความนิยมเพราะเป็นเรื่องของคนชั้นต่ำกว่าตัวละครชุดแรก (พล นิกร กิมหงวน) คนเลยไม่อ่าน
ธเนศร์: ตอนแรกของสามเกลอ (อายผู้หญิง) ไม่ได้ใช้ชื่อสามเกลอใช่ไหมครับ
ดร.วิชิตวงศ์: ฮะ, ตอนแรกใช้ อายผู้หญิง, สองเกลอจอมแก่น, รักสนุก, และปีศาจคะนอง เป็นชุดที่เจ้าคุณปัจจนึกฯปลอมเป็นผีหลอกคนในบ้าน เพื่อจะให้เข้านอนแต่หัวค่ำ ตัวเองจะได้เข้าหาสาวใช้ สามเกลอนี่มาทีหลัง
ธเนศร์: ดร.ดิเรก นี่เข้ามาหลังสุด ในชุด "ไอ้ดำปรอท" เป็นช่วงเปิดตัวละคร
ดร.วิชิตวงศ์: เข้ามาก่อนสงครามอินโดจีนเล็กน้อย ช่วงนี้จะเดินเรื่องเร็ว เริ่มตั้งแต่ปี 2482 เรื่อยมา ถ้าถามผมว่าชอบผลงานช่วงไหน ก็จะบอกว่าช่วงนี้แหละ ช่วงหลังๆ นานๆ จะมีเรื่องดีๆ ที่ชอบ ผมว่านะเรื่องดีๆ ของ ป. จะอยู่ระหว่าง พ.ศ.2482-2484 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
ข่าวสด: เดี๋ยวนี้ท่านด๊อกเตอร์ยังอ่านของ ป. อยู่หรือเปล่าครับ
ดร.วิชิตวงศ์: ไม่ค่อยมีเวลา จะอ่านต่อเมื่อต้องการอยู่ในโลกส่วนตัว
ธเนศร์: เหมือนผมครับ, เวลาจะอ่านนี่ต้องอยู่ในที่ส่วนตัว ผมไม่กล้าไปอ่านที่อื่นอย่างบนรถเมล์นี่ไม่เอาเลย กลัวเผลอหัวเราะออกมาคนเขาจะหาว่าบ้า
ดร.วิชิตวงศ์: อีกเวลาหนึ่งที่อ่านคือ ตอนที่เครียด อ่านแล้วขำความเครียดมันก็หาย ทุกวันนี้ผมก็วางหนังสือท่านอยู่ข้างเตียง
ข่าวสด: อุปนิสัยของ ป.อินทรปาลิต เป็นอย่างไร คงมีอารมณ์ขันไม่หยอกเหมือนกัน
ดร.วิชิตวงศ์: เป็นคนเรียบร้อยครับ ไม่ใช่คนเสเพล ชอบชิมอาหาร ผมได้จากแกเยอะ โดยเฉพาะเรื่องเหล้า ผมเคยถามคุณปริญญาหลานชายแกนะฮะ ว่า ป.อินทรปาลิต มีรสนิยมเรื่องผู้หญิงอย่างไร คุณปริญญาบอกว่าชอบท้วมๆอวบๆ มีเนื้อมีหนัง ซึ่งแกก็สะท้อนออกมาในหลายเรื่อง อย่างเรื่องหัวล้านนี่ก็เหมือนกัน คนไทยขบขันเรื่องหัวล้านกันมานาน จะเห็นเป็นตัวประหลาดในสังคมเลยเชียว สมัยก่อนไม่ค่อยมีคนไทยหัวล้านนะฮะ เพิ่งมาระบาดในยุคหลังๆ
ข่าวสด: ความที่ ป.อินทรปาลิต เขียนเรื่อง พล นิกร กิมหงวน มานานคิดว่าสับสนเรื่องอายุตัวละครบ้างไหม
ดร.วิชิตวงศ์: แกเขียนมานานคงสับสนบ้าง เราคนอ่านก็อยากอ่านเรื่องที่เรียงลำดับไป ถ้าอยากรู้ว่าเจ้าคุณปัจจนึกฯอายุเท่าไหร่ต้องย้อนไปเมื่อ พ.ศ.2482 ช่วงนั้นอยู่ในเรื่อง "อายผู้หญิง" เจ้าคุณประสิทธิ์ฯจัดงานแซยิด 60 ปี ส่วนเจ้าคุณปัจจนึกฯนั้นอ่อนกว่าเจ้าคุณประสิทธิ์ฯ และเจ้าคุณปัจจนึกฯก็อยู่มาถึงปี พ.ศ.2510 ผมกะว่าอายุประมาณ 80 กว่าแล้วช่วง พ.ศ. นี้ ส่วนนิกรกับพลนั้น ผมว่านิกรอ่อนกว่าพล 2 ปี เพราะ พ.ศ.2482 พลอายุ 24 ปี ส่วนนิกร 22 เมื่อบวกลบคูณหารแล้วพลเกิดปี 2458 ส่วนนิกร 2460 ทำนองนั้น เรื่องนี้ถ้าจะทำเป็นรีเสิร์ชก็ต้องมานั่งถกเถียงกัน ที่ ป. อินทรปาลิต ต้องคำนึงถึงเรื่องอายุของตัวละครก็เพื่อให้เรื่องมันมีรสชาติ แต่ก็เอาความแน่นอนไม่ได้ แต่ถึงอย่างไรผมว่า พล นิกร กิมหงวน เป็นงานวรรณกรรมที่ไม่ธรรมดานะครับ
เอมพงษ์ บุญญานุพงษ์ , ธีรยุทธ ยุวนิมิ / เรื่อง
ธีรวุฒิ มีแสงนิล , ธรรมนูญ วรรณวิกรณ์ / ภาพ
ต่อด้วย "แผนผังสาแหรกสี่สหาย" "ข้อมูลของตัวละคร" และ "หมายเหตุสามเกลอ"
All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.