Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

ผู้บันทึกชีวิตของคนขายฝัน





ที่มา: กรุงเทพธุรกิจฉบับ วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ.2541
  Section จุดประกายวรรณกรรม
โดย: เริงไชย พุทธาโร
  ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์บน Internet เพื่อการศึกษา
พิมพ์โดย: Webmaster สมาชิกหมายเลข 00001

สุภาพบุรุษหนวดงามชื่อ เริงไชย พุทธาโร คลุกคลีอยู่กับ"ถนนหนังสือ" มานานพองาม เคยทำหนังสืออยู่กับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และเคยร่วมทีมงาน ถนนหนังสือ ก่อนที่จะออกมาเป็นนักเขียน และช่วยผองเพื่อนทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ

เริงไชยเป็นชาวสงขลา ด้วยรักในตัวอักษร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานของ ป.อินทรปาลิต ชุด "สามเกลอ" เขาจึงผันตัวเองเข้ามาในวงการหนังสือ และทำหนังสือเรื่อยมา

ผลงานที่ เริงไชย ทำอย่างประณีตและสร้างชื่อเสียงให้เขาเป็นอย่างมาก คือ หนังสือชื่อ ป.อินทรปาลิต ชีวิตของคนขายฝัน

เรื่องราวคนขายฝันของ เริงไชย พุทธาโร เป็นประวัติของ ป.อินทรปาลิต ที่ผู้เขียนนำเรื่องราวต่างๆ มาร้อยเรียงให้อ่านกันอย่างได้รสได้อารมณ์ เป็นที่สนใจของนักอ่านเป็นอย่างมาก จึงกลายเป็นหนังสือขายดีเล่มหนึ่ง

หลังจากเขียนประวัติของ ป.อินทรปาลิต ผลงานอื่นๆ ของเขาดูเหมือนจะเงียบหายไปจากแผง สำหรับคนที่ตั้งตารอคอย คงจะไม่ใช่การรอคอยที่ "หวังเหวิด" แต่อย่างใด เพราะปัจจุบันกำลังจะออกหนังสือประวัตินักเขียนอีก 2 เล่ม

ผลงานเหล่านี้เคยได้รับการตีพิมพ์มาแล้วใน ถนนหนังสือ และ แนวหน้าสุดสัปดาห์

"เสียเวลากับการแก้มาก คาดว่าจะออกเดือนหน้า"

นั่นเป็นคำบอกกล่าวความคืบหน้าของผลงาน สำหรับ สนพ.ที่จัดพิมพ์นั้น เริงชัยบอกว่าเป็น สนพ.แสงดาว ของ จรัล หอมเทียนทอง

เรื่องราวนักเขียนยิ่งใหญ่อย่าง ป.อินทรปาลิต เริงไชยคิดจะทำอีกหรือไม่นั้น สุภาพบุรุษนักเขียนบอกว่า คิดเรื่องราวต่างๆ ไว้หลายเรื่อง แต่แล้วก็ยังไม่ได้เริ่มต้น เนื่องจากมีภาระมากมายอยู่

สำหรับเรื่องราวหนังสือชื่อ "ป.อินทรปาลิต ชีวิตของคนขายฝัน" ที่ปรากฏออกมาเป็นเล่มนั้น ความเป็นมาคือ "ผมบอกเรืองเดช จัทรคีรี ซึ่งตอนนั้นเรืองเดชเขาเป็นบก.ถนนหนังสือ บอกว่าผมจะเขียนเรื่อง ป.อินทรปาลิตให้ เรืองเดชบอกว่าให้เขียนมายาวๆ เลย ผมก็เลยบ้าจี้ตามเรืองเดชไป เลยออกมาเป็นเล่มอย่างที่เห็น"

สำหรับผลงานของ ป.อินทรปาลิต เริงไชยบอกว่า อ่านมาตั้งแต่เด็กๆ เริ่มอ่านการ์ตูนก่อน ไม่ว่าจะเป็นของ จุก เบี้ยวสกุล ราช เลอสรวง พ.บางพลี เมื่ออ่านมากจนพอประมาณแล้ว ก็มองหาหนังสืออ่าน "พอดีพวกเขาเป็นเจ้าของหนังสือร้านเช่าอยู่ เขาก็ยัดหนังสือสามเกลอมาให้ผม ผมก็บอกว่าไม่อ่านล่ะ หนังสือไม่มีรูป แต่เขาก็คะยั้นคะยอให้อ่าน ผมก็ลองอ่านดู อ่านแล้วติดงอมแงมเลยคราวนี้ อ่านผลงานของ ป.อินทรปาลิต พลนิกร กิมหงวนอย่างเดียวเลย กว่าจะมาอ่านหนังสืออื่นๆ อีกตั้งหลายปี"

บุคลิกของ ป. เท่าที่เริงไชยได้สัมผัสมา "ผมพบท่านเมื่อท่านอายุมากแล้ว ท่านออกจะขรึมๆ หน่อย อาจจะไม่สบายแล้วทำงานหนัก ผมเห็นทีไรท่านนั่งพิมพ์ดีดแป๊กๆ ทุกครั้ง

ผมได้คุยกับท่านอยู่บ่อยๆ ถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ตามประสาเด็กๆ ที่อยากรู้จักนักเขียน ก็เป็นนักเขียนในใจของผมนี่ เป็นนักเขียนคนแรกที่ผมอ่าน นอกจากหนังสือเรียนผมอ่านสามเกลอนี่แหละ"

ทรรศนะต่องานของ ป.อินทรปาลิต ของเริงไชย คือ "ในช่วงเด็กผมก็อ่านสนุก เบิกบาน ช่วงโตมาผมก็มองอะไรกว้างขึ้น ก็ยอมรับว่าผลงานของท่านดี

ชุด พล นิกร กิมหงวน ผมว่าถ้าเด็กอ่านได้จะดีมาก ทีนี่เวลามันต่างกัน ผมไม่รู้ว่าเด็กวันนี้กับเมื่อก่อนมันจะรับอะไรได้เหมือนกันหรือเปล่า วันงาน 70 ปี ไขแสง สุกใส ผมไม่เจอหมอเหวง (โตจิราการ)เขาก็บอกว่าลูกเขาติด ป.อินทรปาลิต งอมแงม ผมรู้สึกดีใจ เมื่อรู้ว่าเด็กยุคนี้อ่านรู้เรื่อง"

ผลงานของ ป. "ผมว่าสามเกลอนี้โดดเด่นอยู่ในยุคของเขานะ แต่เรื่องอื่นๆ ผมก็ว่าเป็นนิยายร่วมสมัยเหมือนกันนักเขียนอื่นๆ"

แล้วพวก เสือดำ เสือใบ เป็นอย่างไร

"ผมมาอ่านตอนโตแล้ว พอดีตอนนั้นผมอ่านหนังสือมามากแล้ว แต่ก็อ่านได้ แต่ไม่ได้ประทับใจดื่มด่ำ มันก็มีเศร้าบ้าง อะไรบ้าง ถ้าจะเทียบกับยุคนั้นมันก็ดี เพราะมันเป็นยุคสมัยของเขาเป็นอย่างนั้น"

ความกระเดื่องดังของ ป.อินทรปาลิต หากจะเทียบกับนักเขียนในยุคนี้ น่าจะพอได้กับนักเขียนไทยคนไหนบ้าง

"ยาก มันเป็นความนิยมของยุคสมัย"

ทำไมนักเขียนยุคใหม่ๆ เมื่อโผล่ขึ้นมาแล้วหายไป ส่วนนักเขียนเก่าๆ จะอยู่เป็นส่วนมาก "เงื่อนไขสังคมมันแตกต่างกัน ยุคเก่าคนมันน้อย หลังสงครามโลกคนสิบกว่าล้าน ปัจจุบัน 60 กว่าล้าน คนไม่มีเวลามาพิรี้พิไรกับความละเอียดทางวรรณกรรม มันต้องไววับๆ อย่างอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) เรียกภาษาอิเล็กทรอนิกส์ ไววับๆ

ถ้าเรามาเขียนภาษาละเมียดละไมอย่างภาษาของยาขอบ อย่าง พนมเทียนไม่รู้คนจะอ่านกันหวาดไหวหรือเปล่า"

ลักษณะนิสัยการอ่านของคนยุคนี้ "ฉาบฉวยมาก แต่ตลาดหนังสือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ออกหนังสือกันมามาก แต่ดีไม่ดีผมตอบไม่ได้"

หลังสือตลกยุคนี้ "ผมว่าไปได้ดี คนอ่านมากอย่างวาณิช (จรุงกิจอนันต์) ดำรงค์ อารีกุล เขาก็ทำได้ดี แต่แนวนี้หาคนเขียนยาก และยิ่งสร้างตัวละครแบบสามเกลอ เขียนเป็นสิบๆ ปี คงไม่มีใครทำได้"

ป.อินทรปาลิตช่วงที่ดัง "เขาดังตลอดเลย คนนิยมตลอด มาช่วงปลายๆ เขาทำงานได้น้อยลง"

เรื่องลิขสิทธิ์ "ของเขากระจัดกระจาย ที่ผมเห็นก็ที่ผดุงศึกษาเป็นลิขสิทธิ์ขายขาด และของที่อ่านก็ขายขาดอยู่หลายแห่ง อย่างบรรณาคาร ก็เหมือนกัน

ผมว่าเรื่องสิขสิทธิ์นี้ 50 ปีก็สลายเป็นของสาธารณชน ใครจะพิมพ์ก็ได้ แต่ผมว่าน่าจะแจ้งหน่อย อาจจะแจ้งกรมศิลป์ หรือไม่ก็ญาติ ไม่อย่างนั้นก็จะพิมพ์กันชุลมุน ผมว่า สนพ.น่าจะแฟร์บ้าง เขามีทายาทก็น่าจะจ่ายบ้างเพราะมันไม่ได้หนักหนาอะไรที่จะทำ"

จริงๆ แล้ว "เรื่องลิขสิทธิ์ของ ป.ไม่มีใครรู้เลยแม้กระทั่งหลาน รู้แต่ว่าขายขาด แต่ไม่รู้ว่าขาดอย่างไร ตอนนี้มี ประพันธ์สาส์นและบรรลือสาส์น แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำสัญญากันอย่างไร"

คุณค่าของผลงาน "สำหรับผม พล นิกร กิมหงวน มีคุณค่ามาก มันเป็นบันไดของเด็กที่อ่านหนังสือ ที่จะก้าวให้สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ผมว่าตอนนี้คนโตจะอ่านมากกว่าเด็ก

เรื่องการอ่านนี้ผมว่าสังคมไทยน่าเป็นห่วงมาก วัยรุ่นตอนนี้อ่านการ์ตูนญี่ปุ่น ไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไรที่เด็กจะอ่านการ์ตูน แต่ถ้าไม่พัฒนาการอ่านเลยก็ไม่ไหว ยิ่งเรียนระดับอุดมศึกษาควรจะอ่านกว้างขวางกว่านี้...

การอ่านทุกวันนี้ดูเหมือนว่าไม่มีตัวเชื่อม จากการ์ตูนแล้วก้าวกระโดด แต่ผมนี้เชื่อมด้วย ป.อินทรปาลิต การพัฒนาการอ่านผมไม่แน่ใจเหมือนกัน จริงๆ ทุกวันนี้ก็มีหนังสือออกมาเป็นจำนวนมาก ไม่มีใครวิจัยออกมา...

แต่สำหรับผมแล้ว พล นิกร กิมหงวน เป็นตัวเชื่อมโลกวรรณกรรมอันยิ่งใหญ่ ถ้าไม่ได้อ่านพล นิกร กิมหงวน ผมอาจจะไม่ได้เป็นคนอ่านหนังสือก็ได้"

ชุด พล นิกร กิมหงวน นอกจากส่งให้มาเป็นคนรักหนังสือแล้ว อย่างอื่นที่ได้จากการอ่านงานชุดนี้ก็คือ

"มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ คือ เรื่องที่เกิดในสังคม ป.อินทรปาลิตเอามาเขียนหมด ทุกยุคทุกสมัย ซีอุย หรืออะไรก็เอามาเขียนหมด"

แล้วเรื่องการเมือง "ก็มีบ้าง เสียดสีกันบ้าง แต่เผอิญว่านายทหารยุคนั้นเป็นเพื่อนของ ลุง ป.ทั้งนั้น เรียนไล่ๆ กันอยู่ เขาก็อำบ้าง ไม่ได้อำให้เกิดความรุนแรงทางการเมือง การ อำก็ทำให้เกิดความคิดได้ เรื่องการเมืองท่านก็เก็บเอามาเขียน อย่างเรื่องยิงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ตาย ลุง ป.ก็เอามาเขียนเป็นเรื่องตลกไปเลย กิมหงวนเป็น บก.ถูกยิงตาย ดิเรกทำให้ฟื้นขึ้นมาได้"

งานเขียนของ เริงไชยเอง เขาบอกว่า "อยากเขียน" อยู่เหมือนกัน แต่ก็ยืนยันว่า"ยังไม่พร้อม" สาเหตุมาจากว่า "ผมอ่านหนังสือมากเกินไป ผมว่าอันนี้เป็นจุดอ่อนอันยิ่งใหญ่ของผม ผมอยากทำงานดีๆ แต่ก็ทำไม่ได้ อาจจะเป็นเพราะว่าสติปัญญายังไม่พอ"

เกร็งหรือเปล่า "ไม่ได้เกร็ง เด็กๆ ผมคิดเขียนไม่ซับซ้อน แต่เดี๋ยวนี้ผมอยากเขียนซับซ้อน ถ้าผมทำงานมาตั้งแต่ 20 หรือ 30 ปีที่แล้ว ผลงานผมอาจจะออกเป็นเข่งแล้วก็ได้ บังเอิญไม่ได้เขียน"

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า เคยเขียน และเคยลงตีพิมพ์บ้าง แต่ตอนนี้ขอเวลาบ่มเพาะก่อน เขียนออกมาเมื่อไร้รู้กัน

"อย่างไรก็ต้องเขียน ถ้าไม่รีบตาย เพราะอ่านมามากแล้ว มันอัดอั้น"

เขาทิ้งท้ายด้วยประโยคนี้ ด้วยเสียวกลั้วหัวเราะ





All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace sufers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.