Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

ประวัติ ป. อินทรปาลิต




ที่มา: หนังสือ "โลกส่วนตัวของ ป. อินทรปาลิต"
  (5 นาทีกับชีวิต 58 ปีของ ป. อินทรปาลิต)
โดย: ปริญญา อินทรปาลิต
  ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์บน Internet เพื่อการศึกษา
พิมพ์โดย: Webmaster สมาชิกหมายเลข 00001

ป. อินทรปาลิต หรือ ปรีชา อินทรปาลิต เป็นบุตรคนที่สอง แต่เป็นชายคนแรกในจำนวนพี่น้อง 7 คน ของพันโทพระวิสิษฐพจนการ (อ่อน) กับนางวิสิษฐพจนการ (ชื่น) เกิดวันพฤหัสบดีที่ 12 เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2453 (ปีจอ) ณ ตำบลยมราช จังหวัดพระนคร

การศึกษาเบื้องต้น - โรงเรียนโสมนัสวิหาร

พุทธศักราช 2462 เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก (เลขประจำตัว 3389) แต่ลาออกก่อนสำเร็จเป็นนายทหาร

ศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ จนจบชั้นมัธยมปีที่ 8

การทำงาน - รับราชการในกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม แล้วย้ายไปประจำกองทาง กรมโยธาเทศบาล แต่ทำงานได้ไม่นานตัดสินใจลาออกเพราะชอบชีวิตอิสระ

จากนั้นประกอบอาชีพขับแท็กซี่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนไปเผชิญชีวิตในเรือโยงของญาติ ซึ่งแล่นขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพฯ - ปากน้ำโพ

พุทธศักราช 2472 สมรสกับนางสาวไข่มุกด์ ระวีวัฒน์ ข้าหลวงในพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี มีบุตรธิดาร่วมกัน 2 คน คือฤทัย อินทรปาลิต กับฤดี (อินทรปาลิต)เคนนี่

ด้วยนิสัยรักการอ่านการเขียน เวลาว่างจึงเขียนนิยายเรื่องต่างๆ จากจินตนาการและประสบการณ์ของตน เพื่ออ่านกันในหมู่พี่น้องโดยมิได้ตั้งใจจะส่งไปตีพิมพ์ หนึ่งในหลายเรื่องที่เขียนคือ "นักเรียนนายร้อย" พี่และน้องยอมรับว่า "ดีที่สุด" จึงให้ไข่มุกด์นำไปเสนอสำนักพิมพ์

"คณะนายอุเทน" ของอุเทน พูลโภคา เห็นเป็นนักเขียนมือใหม่จึงบอกปฏิเสธ

"เพลินจิตต์" ของเวช กระตุฤกษ์ รับตีพิมพ์เพราะ ส. บุญเสนอ นักเขียนในสังกัดของเพลินจิตต์ยุคนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่าควรสนับสนุน เนื่องจากเค้าโครงเรื่องถูกความนิยมของตลาด

ปรากฎว่า "นักเรียนนายร้อย" จำนวน 22,000 เล่ม ราคาเล่มละ 10 สตางค์ จำหน่ายขายดีเกินความคาดหมาย

แฟนหนังสือร่ำลือกล่าวขวัญ เจ้าของสำนักพิมพ์ก็รู้สึกพอใจ ชื่อเสียงของ ป. อินทรปาลิต โด่งดังเหมือนพลุที่จุดในงานเทศกาลต่างๆ ประตูอาณาจักรนักเขียนเปิดกว้าง ให้ก้าวผ่านเข้าไปอย่างองอาจผึ่งผาย

นิยายที่เขียนไว้ก่อนหน้านั้นถูกส่งไปเพลินจิตต์ พร้อมกับเรื่องใหม่นับไม่ถ้วน

อารมณ์ของคนอ่านถูกรุกรานด้วยนิยายรักโศก จากการประพันธ์ของ ป. อินทรปาลิต จนไหวสะเทือนและน้ำตาหลั่งนอง

เมื่อนิยายชีวิตเริ่มคลายความนิยม ป. อินทรปาลิต ได้เปลี่ยนไปเขียนเรื่องแนวอื่นๆ อาทิ นิยายปลุกใจให้รักชาติ, นิทานสำหรับเยาวชน เป็นต้น

พุทธศักราช 2481 เขียนนิยายจี้เส้นประเดิมด้วยเรื่อง "อายผู้หญิง" ปฐมบทสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน

น้ำตาผู้อ่านระเหยแห้ง ความรู้สึกเศร้ากลายเป็นครึกครื้น และเมื่อสามเกลอแสดงบทบาทติดต่อกันนานนับปี พล นิกร กิมหงวน จึงเป็นสัญญาลักษณ์ของ ป. อินทรปาลิต ที่แฟนหนังสือยอมรับ

พุทธศักราช 2484 สงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นเคลื่อนทัพเข้าสยามประเทศ กระดาษพิมพ์อันเป็นอุปกรณ์สำคัญเกี่ยวกับธุรกิจหนังสือขาดแคลน จำเป็นต้องวางปากกาแล้วหารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว ด้วยอาชีพพากย์หนังทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

จนกระทั่งสิ้นวิกฤติการณ์ จึงหวนกลับมาเขียนหนังสือต่อไป

พุทธศักราช 2490 ทำหนังสือขนาด 4 หน้ายกชื่อ "ปิยะมิตร" รวมเรื่องหลายรสโดยเขียนคนเดียวเกือบทั้งหมด มีหัสนิยายสามเกลอเป็นเรื่องเอก ออกจำหน่ายทุกวันเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ทั่วไป และปีนี้เองได้สร้างนวนิยายบู๊โลดโผนเรื่อง "เสือใบ" ออกอาละวาดในปิยะมิตรด้วย

ดำเนินงานให้ "ปิยะมิตร" ประมาณ 2 ปี ออกมาเขียนหนังสือขายอย่างอิสระ ซึ่งมีทั้งสามเกลอ, เรื่องบู๊ชุด "เสือดำ", "ดาวโจร", "ลูกดาวโจร" และเรื่องแนวอื่นๆ

พุทธศักราช 2494 ไข่มุกด์ภรรยาคนแรกถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจขณะอายุได้ 39 ปี จึงอยู่กับ ปรานี แพรวพราย ภรรยาคนที่สองเรื่อยมา

พุทธศักราช 2506 ทำหนังสือขนาด 8 หน้ายกชื่อ "ศาลาโกหก"(เรื่องเบาสมอง), "ศาลาดาวร้าย"(เรื่องบู๊) , "ศาลาระทม"(เรื่องชีวิตรักโศก), "ศาลาปีศาจ"(เรื่องผี) และ "นิทานคุณหนู" ออกสู่ตลาดประชันกันเดือนละเล่ม ซึ่งหนังสือเหล่านี้ต้องเขียนคนเดียวทั้งหมด และยังเขียนสามเกลอพ็อคเก้ตบุ๊คอีกต่างหากด้วย ทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอ ในที่สุดคงเหลือแต่ "ศาลาโกหก" ยืนหยัดบนแผงหนังสือคู่กับสามเกลอเล่มเล็ก ตลอดจนเรื่องประเภทอื่นอีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น

พุทธศักราช 2510 ช่วงปลายปีเข้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สาเหตุจากเบาหวานโรคประจำตัวตั้งแต่ปี 2498 รักษาตัวประมาณ 2 เดือนจึงกลับบ้านเขียนหนังสือต่อไป

พุทธศักราช 2511 ปลายเดือนมีนาคม เข้าโรงพยาบาลจุฬาฯ ครั้งที่สอง เพราะมีความผิดปกติเกี่ยวกับปอดแทรกซ้อนอาการโรคเบาหวาน ได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะโรค เป็นเวลานานเกือบ 3 เดือน จนสุขภาพดีขึ้นในขั้นน่าพอใจ แพทย์จึงอนุญาตให้กลับไปรักษาตัวที่บ้าน แต่ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกายทุกเดือนตามนัดของแพทย์

แม้ว่าร่างกายกำลังเผชิญสภาวะเจ็บไข้ แต่ ป. อินทรปาลิต ก็ยังเขียนหนังสืออยู่เสมอ ผลงานล่าสุดซึ่งไม่ใช่ สามเกลอ พล นิกร กิมหงวน หรือ "ศาลาโกหก" คือ "สังเวียนชีวิต" ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ประจำทุกวันอาทิตย์ ยุค สนิท เอกชัย เป็นบรรณาธิการ

ตราบจนวันพุธที่ 25 กันยายน พุทธศักราช 2511 เวลา 18 นาฬิกา 15 นาที ลมหายใจสุดท้าย ก็อ่อนกำลังและสิ้นสุดลง ยุติการต่อสู้บนสังเวียนชีวิตที่เคยโลดเต้นผจญสุขและทุกข์ มากว่าครึ่งศตวรรษ...

รวมอายุ 58 ปี 4 เดือน 13 วัน




All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace sufers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.