เพลงดวงจันทร์เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องเลือดสุพรรณ ประพันธ์โดยหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งในครั้งแรกน่าจะเป็นเพลงประกอบในละครเวทีในยุคสมัยนั้น (พศ. 2484 - พศ. 2486) เข้าใจว่าได้ถูกนำมาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์มากกว่าหนึ่งครั้ง เท่าที่เสาะหาดูมีผลงานของเชิด ทรงศรี เมื่อปี พศ. 2522 ในยุคเฟื่องฟู จากความสำเร็จของ "แผลเก่า
" ผลงานหนังไทยอมตะนิรันดร์กาล
"เลือดสุพรรณ" ในยุคของคุณเชิด นำแสดงโดยคู่พระนางสุดฮอตในยุคนั้น
จาก "วัยอลวน" และ "รักอุตลุด" คือคุณไพโรจน์ สังวริบุตร และคุณลลนา สุลาวัลย์
นอกจากเพลงดวงจันทร์แล้ว มีอีกหนึ่งเพลงประกอบ คือเพลงเลือดสุพรรณ ที่มีท่อนร้องหนึ่งว่า "เลือดสุพรรณ มาด้วยกัน ไปด้วยกัน" เข้าใจว่าคงเคยได้ยินบ้าง
คงเดากันไม่ยากว่าหนังของคุณเชิดในยุคเฟื่องฟูนั้นเป็นแนวรักโศกย้อนยุค
"เลือดสุพรรณ" เป็นเหตุการณ์สมัยอยุธยา เปิดเรื่องณ.หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองสุพรรณบุรี ยามฤดูน้ำหลากชาวบ้านต่างพากันรื่นเริงสนุกสนาน
ด้วยคาดว่าพม่าคงไม่ยกทัพเข้ามา เพลาค่ำของคืนหนึ่งดวงจันทร์ ลูกสาวของนายดวงและนางจันทร์ ได้ถูกชายแปลกหน้าบุกเข้ามาฉุดคร่าไป โชคดีที่มีบุรุษลึกลับเข้ามาช่วยไว้ทันในระหว่างทาง ดวงจันทร์ได้รับบาดเจ็บข้อเท้าแพลง จึงต้องพักรักษาอยู่ที่กระท่อมกลางทาง จากการใกล้ชิดสนิทสนมเธอได้ทราบว่า
เขาชื่อทับเป็นทหารไทยมาสอดแนมข้าศึก ผ่านไป 3 วัน ในขณะที่ทั้งสองเริ่มมีความรักต่อกัน ชาวบ้านก็ตามมาพบดวงจันทร์ และได้พาเธอกลับไป ต่อมาไม่นานนัก ด้วยความประมาทและชะล่าใจของชาวบ้าน พม่าจึงบุกเข้ายึดเมืองได้อย่างง่ายดาย ชาวบ้านได้ถูกฆ่าตายหลายคนรวมทั้งย่าของดวงจันทร์ด้วย
ชาวบ้านถูกทารุณกรรมอย่างเหี้ยมโหด หญิงสาวหลายคนถุกฉุดไปข่มขืน
แม้กระทั่งเพื่อนของดวงจันทร์ ก็ถูกฉุดไปให้มังระโธนายกองปีกขวา แต่ถูกขัดขวางโดยมังราย ซึ่งเป็นลูกชายของมังมหาสุรนาท แม่ทัพใหญ่ของการศึกครั้งนี้ ดวงจันทร์จึงทราบว่าแท้จริงแล้วทับบุรุษลึกลับที่เธอมีจิตปฏิพัทธ์คือมังราย นายกองปีกซ้ายแห่งกองทัพพม่า เธอจึงโกรธแค้นและอาฆาตมังรายเป็นอย่างยิ่ง ชาวบ้านยังคงถูกใช้งานและทารุณอย่างหนักไม่เว้น ดวงจันทร์ที่ปลอมเป็นชายในขณะนั้น เมื่อพ่อถูกทำร้ายเธอจึงลุกขึ้นสู้ จนพม่าทราบว่าเธอเป็นหญิง มังระโธจึงเข้าปล้ำ มังรายผ่านมาเห็นจึงช่วยไว้โดยเกิดการต่อสู้กับมังระโธ ในที่สุดมังระโธพ่ายแพ้ไปอย่างเจ็บแค้น ค่ำคืนนั้นมังรายและดวงจันทร์ต่างคิดถึงกันและกัน เธอพยายามหักห้ามใจไม่ให้คิดถึงมังราย
ศัตรูต่างชนชาติ เธอไปยังโบสถ์ร้างเพื่อภาวนาให้ตนมีจิตใจเข้มแข็ง ไม่คิดรักศัตรู แม้ว่าเขาจะทำดีอย่างไรก็ตาม บังเอิญมังรายมาพบเข้า เธออดใจอ่อนไม่ได้
มังรายพาเธอออกจากค่ายกักกัน ทั้งคู่ปรับความเข้าใจกันได้ มังรายปล่อยให้ดวงจันทร์หนีไป แต่เธอไม่ยอมเพราะไม่อยากทิ้งพ่อและแม่ไว้ เธอจึงย้อนกลับเข้าค่าย ในขณะเดียวกับที่มังระโธตามหาดวงจันทร์ไม่พบจึงทารุณพ่อกับแม่ของเธอ จนนางจันทร์ตายในที่สุด เมื่อทั้งคู่มาพบเข้า มังรายรู้สึกสงสารและหดหู่ในการกระทำของพวกตน จึงตัดสินใจปล่อยเชลยไปทั้งหมด มังระโธส่งทัพตามล่าเหล่าเชลย จนมาล้อมไว้ใกล้ฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี มังระโธนำความขึ้นฟ้องมังมหาสุรนาทในการกระทำของมังราย มังรายจึงชี้แจงถึงการกระทำของตนนั้น
เป็นการรักษาเกียรติของกองทัพพม่า ไม่ให้กระทำตนเช่นกองโจร ทหารชั้นผู้ใหญ่จึงประชุมกันและลงความเห็นว่ามังระโธผิดจริง จึงตัดสินให้ประหารมังระโธ
ก่อนตายมังระโธได้เรียกร้องให้มังมหาสุรนาทประหารบุตรชายคือมังรายด้วย
เพราะมีความผิดในการปล่อยเชลย ด้วยวินัยและความเป็นชายชาติทหาร
มังมหาสุรนาทจึงตัดสินให้ประหารมังรายด้วย เมื่อดวงจันทร์ทราบข่าวจึงกลับมา
ขอให้มังมหาสุรนาทประหารเธอแทน เนื่องจากเป็นต้นเหตุให้มังรายปล่อยเชลยทั้งหมด แต่มังมหาสุรนาทไม่ยอม มังรายจึงถูกประหารชีวิตในที่สุด ส่วนดวงจันทร์เมื่อได้รับอิสระก็สมทบกับดวง ผู้เป็นพ่อและเชลยคนอื่นๆ พร้อมยอมสู้ตายแม้ว่าจะสู้ไม่ได้ก็ตาม ที่สุดน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟเชลยทั้งหมดสู้จนตัวตาย แม่ทัพมังมหาสุรนาทก็ยกย่องต่อการศึกของชาวบ้าน ถึงกับพูดว่าคนไทยเหล่านี้ต่างก็รู้อยู่แล้วว่าสู้ไม่ได้ แต่ก็พร้อมใจกันมาสู้จนตาย สมแล้วที่เกิดมาในสายเลือดของเลือดสุพรรณ
"เลือดสุพรรณ" จึงปิดฉากลงด้วยโศกนาฏกรรมรักของหนุ่มสาวคู่ศัตรูทางชนชาติ
คงทราบแล้วนะครับว่า เพลงดวงจันทร์นั้นนายทัพมังรายใช้ร้องเกี้ยวดวงจันทร์
และทำไมเธอถึงร้องว่า "ฉันเป็นดวงจันทร์ที่ถูกเมฆบัง เมื่อเมฆขยายจันทร์จะฉายท้องฟ้า" นับเป็น sound track เพลงไทยที่สุดยอดจริงๆ และถูกนำมาขับร้องใหม่หลายครั้ง ล่าสุดก็สุเมธ แอนด์ เดอะปั๋ง ที่มาของคำถามครั้งนี้
หากย้อนไปนิดนึงก็วงเยื่อไม้ ในชุด เก้าละคร ครับ ถ้าใครมีข้อมูลมากกว่านี้
ขอเชิญเพิ่มเติมเข้ามานะครับ
(ขอขอบคุณข้อมูลจากหอภาพยนตร์แห่งชาติ)
คุณหมอดิเรก สมาชิกหมายเลข 00122
26 เมษายน 2541