Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

ป. อินทรปาลิต-นักประพันธ์เอก (ตอนที่ 1)





ที่มา: หนังสือ ศิลปินเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับปีพ.ศ. 2494 (เจ้าของคือ อจ. เอนก นาวิกมูล)
โดย: พลตะเวน
  ตีพิมพ์โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการศึกษา
พิมพ์โดย: คุณอิคคิว

ป. อินทรปาลิต - นักประพันธ์เอกผู้เขียนหนังสือได้ทุกรส



จากรั้วโรงเรียนนายร้อยทหารบกไปสู่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ พอหัวพ้นหมวกฟางก็หันเข้าจับอาชีพราชการเจริญรอยตามบิดา เบื่อต่อการพินอบพิเทาเจ้านายเลยลาออกหันเข้าจับอาชีพขับแท็กซี่ เพื่อนฝูงเมินหน้า หนักเข้าออกถือท้ายเรือไฟระหว่างกรุงเทพฯ-ปากน้ำโพ ริอยากเป็นนักประพันธ์กะเขาบ้าง เลยหยิบปากกามาเขียนเรื่องหนึ่งเดือนครึ่ง เขียนแล้วฉีก ขูดฆ่าลบเสร็จออกมาเป็นหนังสือ ๑๔ ยกชื่อ "นักเรียนนายร้อย" หอบต้นฉบับไปขายสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ใจคอตุ้มๆ ต้อมๆ รอการพิจารณา พอได้ค่าเรื่อง ๒๐ บาท ยังกะได้ขึ้นสวรรค์ เลิกอาชีพเดิม เลิกนักเลง หันมาจับงานเขียนหนังสือเป็นอุตสาหกรรมหนัก เขียนเรื่องรักจนคนอ่านแล้วรักกันหลายคู่ เขียนเรื่องโศกจนคนร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวร หันมาสร้างเรื่องตลกเข้า คนหัวร่อเหงือกแห้งทั้งเมืองมาแล้วตั้ง ๑๔ ปี เกือบพอๆ กับอายุของระบอบประชาธิปไตยของเมืองไทย เขาผู้นั้นคือ "ป. อินทรปาลิต" ผู้เขียนหนังสือมาแล้วกว่าพันเล่ม เฉพาะหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน กว่า ๕๐๐ ตอน

ชีวิตในเยาว์วัย

เอ่ยชื่อ "ป. อินทรปาลิต" ขึ้น ทั่วทั้งประเทศไทย ทุกตรอกทุกซอกซอยต้องรู้จักเขาดีทั้งนั้น ใครใครก็ต้องร้องอ๋อ! เพราะเขาเป็นนักเขียนเรื่องตลกจี้เส้นคนทั้งเมืองมาแล้วกว่า ๑๐ ปี เอ่ยชื่อ "ป. อินทรปาลิต" ก็ต้องนึกถึง "พล นิกร กิมหงวน" เหมือนเอ่ยชื่อ "มิคกี้เมาส์" ก็ต้องนึกถึง "วอลท์ดิสนีย์" ผู้สร้างความสำราญให้แก่โลกด้วยการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนของเขา

ด้วยความเป็นลูกครู เด็กชายปรีชา อินทรปาลิต (ผู้ซึ่งใจจริงนั้นแสนที่จะเบื่อระอาในการขีดเขียนเรียนหนังสือเสียเหลือเกิน) จึงต้องหอบกระเป๋าหนังสือ สวมเครื่องแบบนักเรียนนายร้อยทหารบกชั้นปฐมเดินต้อยๆ ตามหลังพันโทพระวิสิษฐ์พจนการ ไปยังโรงเรียนนายร้อยทหารบกทุกวันด้วยความจำใจเสียเหลือเกิน และคุณพระผู้เป็นทั้งพ่อและครู ก็เคี่ยวเข็ญทั้งปากและมือหนักหนานัก เด็กชายปรีชาก็เลยยอมเรียนหนังสือไปกับเพื่อนฝูงเขา ขณะนั้นเป็นในราวพุทธศักราช ๒๔๖๓ ซึ่งโรงเรียนนายร้อยทหารบกยังมีชั้นปฐมอยู่ มีนักเรียนแต่งเครื่องแบบทหารไปโรงเรียนตั้งแต่ตัวเปี๊ยกที่สุดจนถึงตัวโตจวนจะออกเป็นนายทหาร นอกจากจะเรียนหนังสือแล้ว หลักสูตรโรงเรียนนายร้อยรุ่นชั้นปฐมยุคนั้น ยังแถมมีการฝึกวิชาทหารอย่างแข็งแรงให้แก่พ่อหนูเหล่านั้นด้วย ทีละขั้น- ทีละขั้น จนถึงขั้นจับปืนเรียนวิชาทหารโดยตรงอย่างสมัยทุกวันนี้ นักเรียนนายร้อยชั้นปฐมรุ่นราวคราวเดียวกันกับเด็กชายปรีชาในยุคนั้น ที่ในปัจจุบันมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ ก็มีเด็กชายโพยมจุฬานนท์ เด็กชายละม้ายอุทยานนท์เหล่านี้เป็นต้น ส่วนรุ่นโตกว่าแต่ไล่เรี่ยกัน จะเรียกว่ารุ่นพี่ชายก็ไม่ผิดนัก นั่นคือนักเรียนนายร้อยเผ่าศรียานนท์ แต่อย่างไรก็ดีเด็กชายปรีชาหาได้เรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบกจนสำเร็จออกมาเป็นนายทหารอย่างเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับเขาไม่ ทั้งนี้จะเป็นเพราะพรหมลิขิตบันดาลจะให้เขาเกิดมาเป็นนักประพันธ์มากกว่าเป็นนายทหารกระมัง ปรีชาจึงอำลาจากรั้วโรงเรียนนายร้อยทหารบกมาสู่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ ถอดหมวกแก๊ป มาใส่หมวกฟางในสังกัดธงเขียวเหลือง ณ โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์แห่งนี้เอง ปรีชาได้ผ่านวัยเด็กเข้าสู่วัยหนุ่มคะนองแล้ว เขาเป็นคนหัวไวอย่างประหลาด ทั้งๆ ที่ระอาในการเรียนหนังสือเสียเหลือเกิน แต่ปรีชาก็สามารถเรียนได้ปีละชั้นๆ จนพุทธศักราช ๒๔๖๗ เขาก็สอบไล่ได้มัธยมปีที่ ๘ ซึ่งเป็นมัธยมบริบูรณ์ของสมัยนั้น ในระยะนั้น คนมีความรู้ขนาดมัธยม ๘ ก็นับว่าความรู้ค่อนข้างจะเต็มตัว มิน้อยหน้าใครอยู่ละ ทุกกระทรวงทบวงกรมอ้าแขนรับอยู่เสมอ แม้จะเป็นสมัยที่การเศรษฐกิจกำลังตกต่ำ เป็นยุคที่การดุลยภาพข้าราชการกำลังเริ่มต้นขึ้น แต่คนที่สอบไล่ได้มัธยมแปดก็ยังเป็นที่ต้องการกันอยู่ ปรีชาซึ่งหัวเพิ่งจะพ้นขอบหมวกฟาง ก็เหมือนกับเด็กหนุ่มไทยอื่นๆ แห่งยุค คือ จะทำอะไรเล่าถ้าไม่ทำราชการ ดังนี้นายปรีชาจึงต้องเข้าไปรับราชการอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ออกมาเป็นโชเฟอร์

ปรีชาหนุ่มรับราชการอยู่ได้ไม่นานนักก็ชักจะเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมา เพราะว่ากันโดยแท้จริงแล้ว เขารักชีวิตท่องเที่ยวตระเวนไปร้อยเอ็ดเจ็ดหัวเมืองมากกว่าจะมานั่งหลังขดหลังแข็งอยู่กับโต๊ะทำงาน สมัยที่ปรีชารับราชการนั้น ยังเป็นสมัยสมบูรณายาสิทธิราชอยู่ เป็นสมัยต้นรัชกาลที่ ๗ ข้าราชการขนาดเสมียนเงินเดือน ๒๐ บาท นุ่งผ้าม่วงยกกลีบ ใส่เสื้อราชปะแตนอย่างโก้หร่านไปทำงาน ขนาดผู้ใหญ่อย่างคุณพระละก้อ ไม่ต้องพูดถึงละ โอ่อ่า โก้เก๋ขนาดหนักไปทีเดียว อย่างพูดกับเสมียนชั้นผู้น้อยฐานกรุณาหน่อยก็ใช้คำแทนชื่อเสมียนว่า "แก" เสียแล้ว ก็เพราะคำว่า "แก-แก-แกยังโง้นฉันยังงี้" ของขุนนางผู้ดีตีนแดงสมัยก่อนนั้น ต้องทำให้เสมียนปรีชาเกิดหมั่นไส้วงราชการขึ้นมาอย่างหนัก และเพราะแรงดันอันเกิดจากความหมั่นไส้นี่เองได้ทำให้เมืองไทยได้มีนักเขียนเอกขึ้นคนหนึ่ง นั่นคือเสมียนปรีชา ยื่นใบลาออกจากราชการทันที หลังจากที่เจ้าขุนมูลนายแกไปแกมากับเขาบ่อยเข้า

เอาละ ออกมาเคว้งอยู่พักหนึ่งไม่รู้จะทำงานอะไรดี และขณะนั้นความคิดที่จะเป็นนักประพันธ์ก็ยังไม่เกิดขึ้นในสมองของเขา คิดแต่จะเที่ยวเตร่สนุกสนานไปตามเรื่องตามราวและ หาเงินโดยลำแข้งของตนเท่านั้น ขณะนั้นเป็นปลายปี ๒๔๖๙ ปรีชาเก็บรวบรวมเงินได้จำนวนหนึ่งประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ บาท เลยไปซื้อรถเก๋งบุโรทั่งมาคันหนึ่ง ยี่ห้ออะไรเจ้าตัวก็จำไม่ได้เสียแล้ว พอเพื่อนฝูงเห็นนายปรีชากำแหงซื้อรถเก๋งมา ทำท่าจะขับรถโก้ไปโก้มาก็ชักหมั่นไส้อยู่เหมือนกัน หาว่ามันจะเกินไปละพรรคพวก แต่เปล่า นายปรีชาของเราหาได้มีความเห่อศักราชถึงเพียงนั้น ไม่ดอก เขามาปลุกปล้ำฟิตเครื่องเองตามที่พอรู้มาเล็กๆ น้อยๆ จนรถบุโรทั่งคันนั้นอยู่ในเกณฑ์ใช้การได้ดี ไม่ถึงกับดับเครื่องทีก็ลงเข็นทีอย่างรถบางคัน พอฟิตเครื่องเคราเป็นการดีแล้ว นายปรีชาก็ไปตีใบอนุญาตที่กองทะเบียนเป็นรถ "แท็กซี่" ขึ้นมาทันที จากวาระนั้น ยอดชายนายปรีชาก็กลายเป็นโชเฟอร์พารถของเขาออกตระเวน เที่ยวได้รับจ้างเขาเรื่อยไป สมัยนั้นเป็นสมัยแท็กซี่เฟื่องฟูเหมือนกับสมัยทุกวันนี้ที่สามล้อเกลื่อนกรุงเช่นเดียวกัน และราคาค่างวดที่จ้างโดยสารแท็กซี่นั้นพูดให้ฟังแล้วจะใจหาย เพราะขี่รอบกรุงเทพฯ นี้ คิดบาทเดียว รถโก้หน่อยก็หกสลึง หากจะขี่ไปกิจธุระขนาดบางรักถึงบางลำภูก็ในราว ๒๕ สตางค์เท่านั้น เพราะน้ำมันปี๊บละบาทเศษๆ คนสมัยนั้นจึงบรมสุขยิ่งนัก แต่ถึงกระนั้น นายปรีชาก็สู้ตระเวนรถคู่ชีพของเขาไปจอดแถวหน้าห้อยเทียนเหลา ราชธานี สยามโฮเต็ล ราชวงศ์ไปตามเรื่อง เพื่อรับหนุ่มๆ สาวๆ "ดาวสังคม" ยุคนั้นเขาขี่แท็กซี่กันทั้งนั้นแหละ

เอาอีกละ พอนายปรีชาซื้อรถเพื่อนฝูงก็ว่า มันจะมากไป ครั้นเอามาทำเป็นแท็กซี่ตระเวนเที่ยวรับจ้าง เพื่อนฝูงก็มองอย่างสะอิดสะเอียน บ้างก็ว่า "ถุย! เรียนถึงมัธยม ๘ พ่อเป็นถึงคุณพระ มันไม่รักดี จึงต้องมาขับรถแท็กซี่ เพื่อนฝูงเขาออกเป็นนายทหารคาดกระบี่กันไปหมดแล้ว" เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดูหมิ่นเหยียดหยามทำนองนี้ เข้าหูนายปรีชาของเราทุกวัน แต่พี่แกก็เมินเสีย ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ขับรถแท็กซี่เรื่อยไป กินในรถนอนในรถไม่เป็นที่เป็นทาง มันก็สนุกดี แต่เหนื่อยหน่อย วันหนึ่งๆ ก็ได้กำไรบ้าง ๔-๕ บาท พอเลี้ยงตัวได้ดีกว่าทำราชการ โชเฟอร์ปรีชาขับรถตระเวนกรุง เข้าตรอกเข้าซอยจนมีความจัดเจนกับชีวิตชาวกรุงและถนนหนทางเป็นอย่างดีหาตัวจับยากผู้หนึ่ง

"นี่แหละครับ ทำให้ผมเขียนหนังสือได้ในตอนหลัง เพราะผ่านชีวิตต่างๆ มาด้วยตนเองอย่างโชกโชนเหลือเกิน" "ป. อินทรปาลิต" กล่าวกับผู้เขียนและเล่าต่อไปว่า ในบางคราวก็เจอเพื่อนฝูงเขาควงสาวมาจ้างรถขี่ พอเขารู้ว่าโชเฟอร์คือนายปรีชาเพื่อนกัน เขาก็ทำเมินหน้าไม่พูดไม่จา นั่งไขว่ห้างอยู่ตอนหลังราวกับเจ้านายใหญ่ แต่นายปรีชาก็ไม่เคยถือเพราะเป็นอาชีพของเขาที่จะต้องทำเช่นนั้น พอถึงที่หมายก็ต้องลงจากที่นั่งคนขับมาเปิดประตูรถตอนหลังโค้งให้กับเพื่อนซึ่งเป็น ผู้โดยสารของตนอย่างนอบน้อม แล้วก็รับสตางค์ค่าโดยสาร ปากก็ว่า "ขอบคุณครับ" ไปตามระเบียบ เพื่อนก็ควงสาวสังคมเดินลิ่วไป "ป. อินทรปาลิต" เล่าชีวิตของเขาตอนนี้อย่างขบขัน อย่างไรก็ตาม ปรีชาก็ยังดำเนินงานขับรถแท็กซี่ของเขาต่อไปอย่างไม่ท้อถอย ขมุกขมอมไปตามเรื่องตามราว จนปีหนึ่งให้หลัง กรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองที่น่าเบื่อของเขาขึ้นมาอีก เพราะทุกถนน รนแคม ทุกตรอกซอกซอย ทุกเหลาทุกโฮเต็ล การสวมหน้ากากของชาวเมืองหลวงสร้างความเบื่อหน่ายให้แก่โชเฟอร์ปรีชาอย่างหนัก เขาอยากจะออกเที่ยวตุหรัดตุเหร่ต่อไปตามบ้านนอกบ้านนา แทนที่จะวิ่งฝุ่นตลบอยู่ในกรุงเทพฯ อีกแล้ว

นายท้ายเรือไฟ

ในที่สุดความคิดของโชเฟอร์ปรีชาก็ปรากฏเป็นความจริงขึ้น ในเมื่อพี่ชายของเขาทำการเดินเรือไฟ ระหว่างท่าเตียน-ปากน้ำโพอยู่ เมื่อปรีชาเอ่ยปากอยากลงเรือ ประกอบกับปรีชามีความรู้ทางเครื่องยนต์อยู่บ้าง พี่ชายของเขาก็เลยรับคำให้ปรีชาลงประจำเรือไฟด้วย ปรีชาเลยจัดแจงขายแท็กซี่คู่ชีพคันนั้นเสีย กลับไปหากินตามลำน้ำแทนถนนต่อไปใหม่ ในขั้นแรกก็ขลุกอยู่กับเครื่องก่อน ต่อมาก็ค่อยๆ หัดเป็นนายท้ายเรือ ไม่กี่เดือนปรีชาหนุ่มก็กลายเป็น "นายท้ายเรือไฟ" ไปฉิบ ขณะนั้นเป็นปี ๒๔๗๑-๗๒ งานใหม่นี้ทำให้ปรีชามีเวลาว่างมากขึ้นกว่าเดิม และงานนายท้ายเรือไฟนั้นสร้างความเพลิดเพลินให้แก่เขามาก วันๆ ก็นั่งถือท้ายชมวิวทิวทัศน์สองข้างตลิ่งไปพลาง ไม่ก็อ่านหนังสือหนังหาเรื่อยไปตามเรื่องตามราว ปล่อยจิตใจไปตามอารมณ์ พูดง่ายๆ ก็ว่างานของนายท้ายทำให้เขาปล่อยอารมณ์ได้มากกว่างานโชเฟอร์ละ ปรีชาทำหน้าที่นี้อยู่หลายเดือนก็ชักคุ้นกับประเพณีของแต่ละท่าเรือที่เขาจอดแวะ และได้ศึกษาชีวิตบนสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างจุใจ จนในที่สุดบนเรือไฟนี้เอง ปรีชาก็เกิดอารมณ์ที่จะแต่งหนังสือหนังหากับเขาบ้าง เพราะขณะนั้นหนังสือประเภทเริงรมย์ต่างๆ ในเมืองไทยกำลังเริ่มต้นมีตลาดขึ้นแล้วหลังจากฟุบไประยะหนึ่ง คณะใหญ่ที่แข่งขันกันอยู่ คือ คณะเพลินจิตต์ กับ คณะอุเทน ต่างก็จัดพิมพ์หนังสืออ่านเล่นออกสู่ท้องตลาดเรื่อยๆ ไม่เป็นรายปักษ์รายเดือนอะไรทั้งนั้น จะเรียกว่ารายสะดวกเห็นจะเหมาะกว่า เพราะสุดแต่มีต้นฉบับอยู่ในมือก็พิมพ์กันออกไป ราคาที่ขายก็ ๑๐ สตางค์บ้าง อย่างวิเศษสุดก็เล่มละสลึง แต่หนังสือสมัยนั้นพิมพ์กันเรือนหมื่นขึ้นไป มิใช่เป็นเรือนพันอย่างสมัยปรมาณูนี้ นายท้ายปรีชาได้อ่านหนังสือเหล่านั้นก็นึกมันเขี้ยวอยากจะลองแต่งดูบ้างว่ามันจะเป็นเรื่องเป็นราวไหมหนอ จึงใช้เวลาว่างๆ พยายามพล็อตเรื่องอยู่ในเรือ พล็อตกันไปพล็อตกันมาก็ไม่ค่อยได้ความ กลัวไม่เข้าท่า กลัวคนไม่อ่าน กลัวเปิ่นบ้าง กลัวไปร้อยแปด และที่กลัวที่สุดก็คือ กลัวทางโรงพิมพ์เขาจะโยนลงตะกร้า ขณะดำริจะเป็นนักประพันธ์อยู่นี้ นายท้ายปรีชาได้แต่งงานแล้ว จนปี ๒๔๗๔ เขาก็ได้ลูกชายคนหัวปีคนหนึ่ง ก็พอดีวางพล็อตเรื่องสำเร็จลงว่าไหนๆ ตัวเรานี้ก็ได้เคยร่ำเรียนมาในโรงเรียนนายร้อย รู้อะไรดีอยู่ก็ลองเอาชีวิตนักเรียนนายร้อยนี่มาเขียนให้เป็นเรื่องเป็นราวดูบ้างปะไร แม้นว่าทางโรงพิมพ์จะไม่พิมพ์ก็ไม่เสียหลาย เพราะเท่ากับเราเขียนไว้เป็นเกียรติประวัติแก่ชีวิตเราเอง

ครั้นปลงตกดังนี้ นายท้ายปรีชาก็วางตัวละครเป็นการใหญ่ ลงมือเขียนทันที ตั้งใจจะให้เป็นเรื่องชีวิตที่โศกสลดของนักเรียนนายร้อยผู้หนึ่งที่เรียนไม่จบ เพราะมีเหตุเอ๊กซิเด็นและแฝงความรักอย่างจับใจไว้ด้วย นายท้ายปรีชาเขียนแล้วฉีก เขียนแล้วแก้ แล้วฉีกประมาณเดือนครึ่ง ก็จบบริบูรณ์ออกมาเป็นต้นฉบับ ปึกเบ้อเร่อ อ่านทบทวนดูหลายตลบ เห็นว่าโศกเศร้าเอาการอยู่ละก็เลยตั้งชื่อว่า

"นักเรียนนายร้อย"

ทีนี้ธรรมดาคนแต่งหนังสือ หรือที่เรียกกันว่านักประพันธ์นั้นจำจะต้องมีนามแฝง เรียกให้เพราะอีกทีก็ว่า "นามปากกา" (แต่ความจริง บางคนใช้ดินสอเขียน ควรจะเรียกนามดินสอ แต่ก็ไม่ยักเรียก คงเรียกนามปากกาตะบันไป) เออ! จะให้ตั้งตัวเองยังไงดีล่ะ คิดเรื่องตั้งนามปากกาตัวเองจะให้ไพเราะเพราะพริ้งอยู่สามวันเต็มๆ ก็คิดไม่ออก จนแล้วจนรอด ตกลงเลยเอาง่ายๆ ว่า…

"ป. อินทรปาลิต"

เสียเลยง่ายดีและเป็นชื่อย่อของตัวเองด้วย…

ครั้นอุปสรรคทั้งปวงเสร็จไปแล้ว นายท้ายปรีชาก็ถือต้นฉบับไปยังสี่แยกสะพานดำ อันเป็นที่ตั้งของคณะเพลินจิตต์ทันที ไปยืนเลียบๆ เคียงๆ อยู่หลายตลบ เดินไปเดินมาแถวโรงจำนำตั้งนาน จึงตัดสินใจก้าวฉับๆ เข้าไปในโรงพิมพ์ ตอนนี้แข้งขาชักจะสั่น เมื่อไปยืนอยู่ต่อหน้านายเวช กตุกฤกษ์ ผู้จัดการสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ซึ่งขึ้นชื่อลือนามตลอดจนทุกวันนี้ แล้ว "ป. อินทรปาลิต" ก็ยื่นต้นฉบับ "นักเรียนนายร้อย" ของเขาเข้าสู่การพิจารณาของชาวคณะเพลินจิตต์ แต่สำหรับนักประพันธ์หน้าใหม่ที่เพิ่งจะโดดลงสนามแม้จะเขียนเรื่องได้ดีวิเศษสักเพียงใดก็ตาม ย่อมไม่แคล้วที่จะผ่านการตรวจเรื่องเสียก่อน ดังนั้น "ป. อินทรปาลิต" จึงได้รับคำตอบว่า "รอการพิจารณาเสียก่อนแล้วจะแจ้งให้ทราบ" เท่านั้นเอง นักประพันธ์หน้าใหม่ก็เดินตัวปลิวออกจากโรงพิมพ์ ไปรอฟังข่าวการพิจารณาบทประพันธ์บทแรกในชีวิตของเขาต่อไป

ความสำเร็จครั้งใหญ่

ดังได้เล่ามาแล้วว่าสำนักพิมพ์ในเมืองไทยยุคนั้นที่พิมพ์หนังสือจำพวกนวนิยายหรือพูดอย่างตลาดก็ว่า "หนังสืออ่านเล่น" ออกจำหน่ายในท้องตลาดก็มีเพียงสองคณะเท่านั้นคือ คณะเพลินจิตต์กับคณะอุเทน ในสมัยนั้นเรียกกันเป็นคณะคณะเหมือนกับคณะละคร คำว่าสำนักพิมพ์เพิ่งจะมาใช้กันเมื่อเร็วๆ นี้ ตามความเป็นจริงของตัวหนังสือและความเจริญของลิ้นคน (ต่อไปภายหน้าอาจจะมีสำนักพิมพ์ สำนักเรียง สำนักเย็บเล่มปกแข็ง สำนักเดินทอง สำนักโฆษณาขาย สำนักชั่งกิโล และสำนักร้อยแปดพันเก้า ที่เกี่ยวกับกิจการหนังสืออีกก็อาจเป็นได้ เพราะคนเราลงได้เรียกอะไรให้มันผิดไปจากความเป็นจริงแล้ว รู้สึกว่าเป็นคำรื่นหู น่าฟัง คล้ายๆ กับเม๊คอัพอะไรขึ้นใหม่ๆ ส่วนช่างเรียง ช่างแท่น และช่างอะไรร้อยแปดในกิจการของโรงพิมพ์ก็คงจะมีชื่อพิลึกไปอีก เช่นเดียวกับคำว่า "คนแต่งหนังสือ" กลายเป็นเรียก "คนเขียนหนังสือ" ซึ่งกินความกว้างไปถึงครูโรงเรียนและช่างเขียนป้ายด้วย ต่อมาเรียก "นักประพันธ์" ยังมีการเติมคำว่า "ไส้แห้ง" ลงอีกด้วย ยิ่งมายุคสงครามโลกครั้งนี้ เกิดมีคำใหม่ขึ้นว่า "นักประพันธกร" คงอีกไม่นานช่างเรียงก็คงกลายเป็น "เรียงงากร" "แท่นกร" "พับกร" ส่วนสายส่งนั้น ก็จะกลายเป็น "ส่งบาทา" เพราะเกี่ยวกับการส่งหนังสือพิมพ์ ใช้จักรยานและใช้เท้าถีบไป จะเรียก "ส่งกร" ไม่ได้)

เอาละเมื่อเกิดมีสำนักพิมพ์สองสำนักเท่านั้น หนังสือประเภทอย่างว่าจึงขายดิบขายดี คนยุคนั้นอ่านกันเป็นการใหญ่ แม้พระสงฆ์องค์เจ้าก็ยังซื้ออ่านก็มี ลงใครได้ติดหนังสือจำพวกนี้เข้าไปแล้ว มันก็น้องๆ ติดยาฝิ่นไปเชียวละ

ทีนี้นักประพันธ์ หรือที่เรียกกันว่าประพันธกร หรือนักเขียนในยุคนวนิยายเริ่มอุบัตินั้น ก็มีอยู่ไม่กี่คน ที่ขึ้นชื่อลือนามอยู่ทางคณะเพลินจิตต์ก็มี ส. บุญเสนอ, ส. เทพกุญชร, มนัส จรรยงค์, สุพัตรา ส่วนทางคณะอุเทนนั้น "เลียว ศรีเสวก" นั่งปั่นเรื่องออกโต้กับเพลินจิตต์โดยลำพังตัวคนเดียว เมื่อ ป. อินทรปาลิต ส่งต้นฉบับ "นักเรียนนายร้อย" เข้าไปสู่วงการพิจารณาของนักประพันธ์ประจำคณะ "ส. บุญเสนอ" ซึ่งเป็นผู้อาวุโสอยู่ในขณะนั้น อ่านรวดเดียวก็บอกว่า "ใช้ได้" ทันที แล้วก็แจ้งไปให้เจ้าตัวทราบ พร้อมทั้งตีราคาค่าเรื่องให้เสร็จไปเลย คือ ยี่สิบบาท "ป. อินทรปาลิต" ขายลิขสิทธิ์เรื่อง "นักเรียนนายร้อย" ซึ่งเป็นบทประพันธ์เรื่องแรกของเขาเป็นราคาห้าตำลึงถ้วนๆ

หลังจากนั้นมาไม่กี่วัน "นักเรียนนายร้อย" ของ "ป. อินทรปาลิต" ก็ถูกจัดพิมพ์ขึ้นออกสู่ท้องตลาดในรูปเล่มกะทัดรัด ราคาเล่มละ ๑๕ สตางค์ โดยสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ นับแต่วาระนั้นมา นักประพันธ์หน้าใหม่ภายใต้นามปากกา "ป. อินทรปาลิต" ก็ได้ปรากฏออกสู่บรรณโลก

"ป. อินทรปาลิต" ได้ค้นพบอาชีพอันแท้จริงของเขาแล้วว่า แท้ที่จริงก็คือ "ปั้นน้ำหมึกให้เป็นตัวอักษร" นี่เองแหละ นับว่าเขาเป็นนักประพันธ์ที่มีโชคดีคนหนึ่ง พอเขียนเรื่องแรกในชีวิตก็ขายได้ทันทีและถูกพิมพ์ออกจำหน่ายแพร่หลาย สวรรค์ได้ประทานพรให้แก่เขาอย่างเลอเลิศ ผิดกับนักประพันธ์อื่นๆ ราวกับปาฏิหาริย์ "นักเรียนนายร้อย" ของ "ป. อินทรปาลิต" ขายดิบขายดีราวกับเทน้ำ ชื่อของเขาเริ่มพุ่งขึ้นสู่ความเจิดจ้านับแต่เวลานั้น เพราะอะไรเล่าจึงเป็นเช่นนี้ ก็เพราะวางโครงเรื่อง และวางบทบาทชีวิตตัวละครในเรื่องได้อย่างแนบเนียน โดยที่ตัวเขาได้ผ่านมาแล้วอย่างอย่างโชกโชนนั่นเอง วิธีทำงานของ "ป. อินทรปาลิต" จึงควรอยู่ในความเอาใจใส่ของนักเขียนรุ่นใหม่ทั้งหลาย และควรอย่างยิ่งที่จะยึดเป็นบทเรียนด้วย

(โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปในฉบับหน้า)





All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.