เจ้าสังเวียน |
ที่มา: | ต่วยตูนพ็อกเก็ตบุ๊ค ปักษ์แรก ธันวาคม 2540 โดย กมล วัฒนา |
ตีพิมพ์บน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อการศึกษา | |
พิมพ์โดย: | คุณ Supaporn Kacharat |
คุณเชื่อหรือไม่ก็ตาม ผมขอเรียนว่าในชีวิตของผมตั้งแต่วัยสะรุ่นจนกระทั่งเดี๋ยวนี้กลายเป็นวัยสะร่วงไปแล้วนั้น ผมไม่เคยเข้าไปดูมวยในสนามเลย ไม่ว่าจะเป็นสนามราชดำเนิน หรือลุมพินี
เพียงแต่ตอนเป็นเด็กอยู่พ่อเคยจูงมือพาไปดูการชกมวยที่สนามสวนเจ้าเชตุบ้าง (ถ้าผมเขียนผิดขออภัย) สวนกุหลาบบ้าง หลังจากนั้นแล้วก็ไม่เคยได้ดูการชกมวยบนเวทีอีกเลย นอกจากดูถ่ายทอดการชกมวยคู่สำคัญทางโทรทัศน์เป็นบางครั้งเท่านั้น แต่คุณจะเชื่อหรือไม่ (อีกที) ก็ตาม ผมได้คลุกคลีอยู่กับวงการหมัดๆ มวยๆ มาไม่น้อย ทั้งที่ไม่เคยเข้าดูมวยในสนามมวยนี่แหละ ไม่ใช่อะไรหรอก สมัยก่อนโน้นบ้านเกิดของผมอยู่ที่บางซื่อ อันเป็นถิ่นของ "ทองใบ ยนตรกิจ" ศิษย์เอกของ "ครูตังกี้ ยนตรกิจ" นั่นแหละครับ ผมไปดูการซ้อมของนักมวยในคณะนี้ที่ค่ายวัดน้อยนพคุณ ราชวัตร ใกล้กับสะพานเกษะโกมลเสมอ ได้เห็นและรู้ซึ้งถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังนักมวยแต่ละคนดีพอสมควร อย่างไรก็ดี หากจะเจาะให้ลึกลงไปอีกแล้ว ผมมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับอดีตนักมวยท่านหนึ่งซั่งมีความเป็นสุภาพบุรุษสังเวียนทั้งบนเวที และนอกเวทียิ่งกว่านักมวยท่านอื่นมาก ท่านผู้นี้เป็นนักมวยที่ชกได้ทั้งมวยไทยและมวยสากล อีกทั้งเคยไปชกในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มลายู สิงคโปร์ อย่างโชกโชนมาแล้ว ดังผมจะได้เล่าให้ท่านฟังนะครับ
ตามที่ผมเรียนให้ทราบแล้วว่าสมัยก่อนโน้น ผมมีนิวาสถานบ้านเกิดอยู่ที่บางซื่อ ตอนเป็นเด็กเล็กอยู่ทุกๆ เช้าผมจะต้องเดินไปโรงเรียน ซึ่งอยู่ตอนหัวโค้งจะไปโรงงานปูนซีเมนต์ไทยชื่อโรงเรียนวิริยะวิริยา ซึ่งปัจจุบันได้เลิกกิจการไปนมนานเต็มทีแล้ว ในระหว่างทางผมต้องผ่านบ้านหลังหนึ่งซึ่งอยู่ริมถนนเตชะวณิชย์ ในสมัยนั้นผู้คนยังมีจำนวนน้อยมาก รถราต่างๆ ก็ไม่ค่อยมีวิ่งเหมือนปัจจุบันนี้และทุกๆเช้าหรือเย็นเลิกจากโรงเรียนกลับบ้าน จะต้องพบเห็นนักมวยเอกท่านหนึ่งชกกระสอบทรายอยู่เป็นประจำ ในบางวันผมก็หยุดยืนดูท่านซ้อมอยู่เสมอ จนกระทั่งรู้จักมักคุ้นกับท่านเป็นอย่างดี ผมเรียกท่านว่า "น้าหมาน" เป็นคนใจดี ในยามที่ว่างจากการซ้อมผมก็จะเข้าไปคุยกับท่านบ้าง และบางทีผมก็ขี่คอให้ท่านพาเดินเล่นในละแวกใกล้เคียงเสมอ เรียกว่าเราสนิทสนมกันมากจนกระทั่งผมโตเป็นหนุ่มแล้วความรักใคร่สนิทสนมก็มิได้คลายลง เพียงแต่ตอนหลังท่านย้ายที่ทำมาหากินไปอยู่ต่างจังหวัด ก็เลยไม่ค่อยได้พบกันเหมือนเช่นเคย สำหรับนักมวยในสมัยนั้นเท่าที่จำได้ก็มี "สมพงษ์ เวชสิทธิ์" ซึ่งท่านผู้นี้ก็เกรียงไกรในด้านยุทธจักรหมัดๆ มวยๆ เช่นกัน และทั้งสองท่านก็เคยได้ประกบคู่ชกกันบนเวทีแล้วด้วย
สมัยนั้น นักมวยผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นสุภาพบุรุษของวงการมวยไทยและมวยสากลของเมืองไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ก็มี "น้าหมาน" ที่ผ่านการชกบนเวทีทั้งมวยไทยและมวยสากลอย่างโชกโชนอยู่คนหนึ่ง สำหรับมวยสากลนั้น เคยออกไปราวี ณ มลายู สิงคโปร์ บ่อยครั้งจนกลายเป็นนักมวยขึ้นคานครองแชมป์ทั้งไทยและสากล
นักมวยนั้นเก่งเกินไปก็หาคู่ชกยาก เพราะไม่มีใครกล้าต่อกรด้วย น้าหมานก็เหมือนกัน เพราะเมื่อเก่งมากไปหาคู่ชกไม่ได้ ก็เลยต้องแขวนนวมไปขับรถบรรทุกหากินทางภาคเหนือโดยตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นครสวรรค์โน้น ก้มหน้าก้มตาหารับประทานไปวันๆ จากการบอกเล่าน้าหมานบอกว่าคู่ต่อกรที่ต่อยกันมันก็คือ "สมพงษ์ เวชสิทธิ์" ผู้ที่มีหมัดซ้ายปรมาณู ผลจากการชกหลายครั้งหลายหน ก็ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ เพราะชกทั้งแบบมวยไทยและมวยสากล แต่สรุปได้ว่า น้าหมานชนะสมพงษ์มากกว่าแพ้
เวทีราชดำเนินสมัยก่อนยังไม่มีหลังคา แต่เป็นเวทีกลางแจ้งพร้อมที่จะรับแดดรับฝนที่ดีและทันสมัยที่สุด สมัยที่คุณปราโมทย์ พึ่งสุนทร เป็นนายสนามมวยราชดำเนิน คิดอยากจัดมวยใหญ่ให้เป็นที่เกรียงไกรสักครั้ง นั่นก็คือต้องการมวยดีมาปราบยักษ์สุข หรือ "สุข ปราสาทหินพิมาย" ที่มีสมญานามน่ากลัวว่า "ผีโขมด" เพราะหน้าตาเหี้ยม สักเกือบทั้งตัว รูปร่างสูงใหญ่ กล้ามเนื้อเป็นมัด บึกบึนแข็งแรงมาก และที่ว่าร้ายกันก็คือเพิ่งออกจากคุกฐานฆ่าคนตายซะด้วย
เมื่อออกจากคุกก็ออกชกมวยหาเงินเลี้ยงครอบครัวด้วยการตั้งคณะมวยเป็นของตนเอง ชื่อคณะปราสาทหินพิมาย เพราะสุขเป็นคนเมืองพิมาย โคราช โดยมีนักมวยร่วมคณะเพียงคนเดียวคือ "แก้ว" ซึ่งเป็นน้องของสุขเอง และได้หอบหิ้วกันเข้ามาชกมวยในเมืองหลวง
สุข ปราสาทหินพิมาย ชกชนะคนมาทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ทวี มีใจบุญ ดี เทียมกำแหง ประสิทธิ์ ชมศรีเมฆ ประเสริฐ ส.ส. ถวัลย์ วงศ์เทเวศร์ ฉลวย นฤภัย และศรีเมือง อินทรยศ
ในที่สุดก็แทบจะกลายเป็นมวยขึ้นคานไปอีกคน ตอนนั้นแฟนมวยเรียกร้องให้เอาสมพงษ์ เวชสิทธิ์ มวยซ้ายหนักมาปราบ แต่กลับกลายเป็นถูกปราบโดยสุข ปราสาทหินพิมายซึ่งมองกันไม่ออกว่าหน้าไหนจะมาปราบได้นอกจากน้าหมานเท่านั้น
เพราะน้าหมานเป็นมวยไทยที่ชกด้วยสมอง สุขุม เยือกเย็น และเด็ดขาด ฉับไวในการใช้อาวุธมวยไทยไปทุกกระบวนท่า ไม่ว่าศอก เข่า เท้า หมัด เรียกว่าพร้อม ส่วนยักษ์สุข ปราสาทหินพิมาย นั้นเล่าก็แข็งแกร่งยังกะปราสาทหินพิมาย ทรหดอดทนเชิงชกดุดันแบบไร้ความปรานี หมัดขวาดี ศอกซ้ายคมและหนักหน่วง การเตะก็พอใช้ เป็นมวยแบบย่างสามขุม เดินหน้าจ้องตาไม่กะพริบ การ์ดมวยของสุขก็คือยกศอกสูง เกร็งหมัด ส่วนน้าหมานนั้นการ์ดมวยแบบธรรมดา คือไทยกึ่งสากล ความพยายามของคุณปราโมทย์ พึ่งสุนทร ในเวลานั้นได้ผล แต่กว่าจะกล่อมน้าหมานได้ก็เล่นเอาวิ่งขึ้นวิ่งล่องกรุงเทพฯ - นครสวรรค์หลายตลบ เพราะน้าหมานแกรู้ตัวดีว่าเรื้อเวทีไปนาน และอายุอานามก็มากโข ต่อให้ฟิตยังไงก็ยากจะทนความหนุ่มที่ห้าวหาญของผีโขมดสุข ปราสาทหินพิมายได้
แต่เมื่อมาเจอข้อเขียนของครูมาลัย ชูพินิจ หรือ "แบตลิ่ง กร้อบ" เขียนกระทุ้งว่า การชกคราวนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่า เชิงมวยไทยกับความแข็งแกร่งอย่างไหนจะเหนือกว่ากัน และจะหาความเหมาะสมกว่าคู่นี้ไม่มีอีกแล้ว
ต่อจากนั้นหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย สยามนิกร สยามสมัยรายสัปดาห์ และหนังสือกีฬาก็ช่วยกันประโคมข่าวทุกฉบับ .น้าหมานเลยยอมชกกับสุข ปราสาทหินพิมาย
ก่อนการชกนักมวยรุ่นหลัง อย่างถวัลย์ วงศ์เทเวศร์ , ฉลวย นฤภัย ไปช่วยลงนวมกับน้าหมาน และก็ด้วยเวลาอันจำกัด น้าหมานก็ไม่สามารถจะฟิตร่างกายให้แกร่งเหมือนแต่ก่อนได้ โดยเฉพาะการลดความอ้วน แต่แกก็หมั่นฝึกซ้อม และเชื่อมั่นว่าคงจะใช้ชั้นเชิงมวยไทยรับมือกับมวยหมัดมวยศอกได้
ฝ่ายทางผีโขมด สุข ปราสาทหินพิมาย กลับไปซ้อมที่พิมาย ปล้ำกับควายและวัวจนแข็งแกร่งยังกะภูผา !
วันชกของนักมวยคู่นี้เรียกความสนใจได้มากเป็นประวัติการณ์และส่วนมากอยากเห็นน้าหมานต้อนมวยอย่างสุข และคาดอีกว่าน้าหมาน จะใช้ชั้นเชิงอันแพรวพราวล่อหลอก ให้สุขหัวปั่นเล่นอย่างมันในอารมณ์ของประดาแฟนที่แห่แหนเข้าไปนั่งรอรับแดดตั้งแต่บ่ายโมงอย่างไม่ย่อท้อ
เพราะน้าหมานเป็นขวัญใจ และเป็น "สุภาพบุรษสังเวียน"
แต่สุข ปราสาทหินพิมาย เป็นยักษ์ผีโขมด ดุเดือด ดุดัน เหี้ยมเกรียมนั่นเอง คือจุดที่ทุกคนรอคอยเหมือนจะคิดว่า ยากนักหนาที่น้าหมานจะแพ้มวยที่เป็นมาจากในคุกเมืองโคราช
ตอนขึ้นเวที ทุกคนเห็นชัดถึงความเป็นเจ้าเนื้อของน้าหมานอย่างชัดเจน เพราะใบหน้าที่อูม ท้องที่เริ่มพลุ้ยเห็นได้ชัด แต่ก็ยังหวังว่าความเป็นยอดมวยไทยคงจะต้อนคู่ต่อสู้ได้แน่
เริ่มการชกเมื่อสิ้นเสียงระฆังยกที่ ๑ . อาจารย์วงศ์ หิรัญเลขา (คงใช่น่ะ) ให้สัญญาณการชก น้าหมานจรดมวยอย่างรัดกุม สุขเดินส่ายอาดๆ ย่างสามขุม ขยับทั้งศอกและหมัดเข้าหาอย่างไม่กลัวศักดิ์ศรี และในชั่วพริบตานั้นเอง น้าหมานก็เตะเข้าพับในเสียงดังเพี้ยะ สุข ปราสาทหินพิมาย ล้มก้นจ้ำเบ้าทั้งยืน เรียกเสียงแฟนมวยเฮฮา เสียงปรบมือกึกก้อง
สุขรีบลุกขึ้นมาเดินลุยเข้าหา แต่ทำอะไรไม่ได้นอกจากต่อยลมวืดวาด
ยกสองก็เช่นกัน การชกมีประปราย แลกเตะกันพอหอมปากหอมคอ เข้าวงในน้าหมานก็เชิดศอกได้หลายครั้ง แฟนมวยเชื่อกันว่าลองชกกันอย่างนี้สุขแพ้น้าหมานแหงๆ
แต่พอยกสาม น้าหมานดูท่าทางอ่อนระโหยลงมาก ผิดกับสุขที่คึกยังกะคนหนุ่ม และคราวนี้สุขก็เดินลุยอย่างเมามัน น้าหมานยากที่จะต้านทานได้ ล้มกลิ้งล้มหงายเพราะหมดแรง ซึ่งยกที่สี่ก็มีสภาพเหมือนกับยกที่ห้าอันเป็นยกสุดท้ายที่น้าหมานเองก็สิ้นเรี่ยวสิ้นแรงยืนแทบไม่อยู่ ซึ่งสุขเองก็รู้ว่ายอดมวยหมดแรงแล้ว และแทนที่จะขยี้ให้ย่อยยับ ตามแบบฉบับของยักษ์ผีโขมด สุขไม่ทำ พยายามประคับประคองกันจนครบ และหมดยกที่ ๕
ท่านที่รัก- ก่อนที่กรรมการจะตัดสิน น้าหมานก็เดินมาชูมือสุขปราสาทหินพิมาย ให้เป็นผู้ชนะท่ามกลางเสียงปรบมือ และตัวสุขเองก็ก้มลงกราบที่เท้าของน้าหมานเหมือนขอขมาลาโทษ และยอมรับในความเป็นมวยรุ่นพี่-น่ารักน่าชื่นชมยิ่งนัก เมื่อน้าหมานทรุดตัวลงประคองให้สุขยืนขึ้น เพื่อให้กรรมการชูมือในฐานะเป็นผู้ชนะ
สุขเองเคยบอกไว้ เมื่อปี ๒๕๑๒ ว่า "น้าหมานแกแพ้สังขารว่ะ หากเป็นมวยยุคเดียวกันฉันเอาชนะแกไม่ได้หรอก เพราะเชิงสูง ไว และหนักทุกอย่าง" ซึ่งการชกอันเป็นประวัติศาสตร์ในครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี ๒๔๙๒ น้าหมานเองก็กล่าวยกย่องสุขว่า "แกเป็นสุภาพบุรุษ ไม่ยอมขยี้อั๊ว ทั้งๆ ที่ทำได้ แถมเวลากอดกันยังพูดขอโทษตลอดเวลา" (คนอะไรน่ารักเป็นบ้า !)
คนไทยหรือมวยไทยนั้นมีสันดานเหมือนกัน คือไม่ยอมซ้ำเติมคู่ต่อสู้หากเพลี่ยงพล้ำ นักมวยไทยจึงเหลือความดี ความเป็นสุภาพบุรุษให้พูดถึงกันไปอีกนานเท่านาน เพราะกีฬาย่อมมีแพ้มีชนะ และมีการให้อภัยซึ่งกันและกัน
ก่อนจบ ผมขอเรียนให้ทราบว่าผู้ที่ผมเรียกว่า "น้าหมาน" ก็คือ "สมาน ดิลกวิลาศ" เย็นเติ้ลแมนของวงการมวยไทย และมวยสากลสมัยก่อนนั่นเองครับ ซึ่งเดี๋ยวนี้คงทิ้งให้หลงเหลือไว้แต่เพียงชื่อเท่านั้น
All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.