ระลึกถึง ป. อินทรปาลิต ตอนที่ 8 |
ที่มา: | หนังสือ "หนังสือที่ระลึกในการประชุมเพลิงศพ ป. อินทรปาลิต" |
ข้อเขียนโดย: | โกมล อินทรปาลิต |
ตีพิมพ์บน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการศึกษา | |
พิมพ์โดย: | คุณณัฐพงษ์ ดำรงรัตน์ |
จากน้องปลายเถา
ถ้าชาติหน้ามีจริง และคนเราเกิดกันได้อีก..ผมขออธิษฐานไว้ว่า ขอให้เราไปเกิดเป็นพี่น้องกันอีก ให้ทุกชาติทุกชาติ เพราะชั่วชีวิตของพี่ชา เป็นชีวิตที่สร้างความอบอุ่น รื่นรมย์หรรษาให้แก่น้องๆและญาติทุกคน ตลอดชีวิตของพี่ ทั้งรวยทั้งจน ทั้งอิ่มทั้งอด เป็นนักต่อสู้ที่ยืนหยัดอยู่บนลำแข้ง ยึดอาชีพที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนของประชาชน ผลิตผลงานออกมาด้วยมโนภาพ หยาดเหงื่อและแรงใจ จากประสพการณ์ในด้านต่างๆของชีวิตที่ดำเนินไปอย่างลุ่มๆดอนๆ โชคดีบ้างร้ายบ้าง จนกระทั่งมาเป็นตัวหนังสือให้"นักอ่าน"ติดกันงอมแงม กลายเป็นนักเขียนที่ประชาชนให้ความเมตตา ศรัทธาในตัวเขา จากนามปากกาธรรมดาๆ โดยใช้ชื่อย่อของตัวเองและชื่อสกุลว่า"ป.อินทรปาลิต"อันเป็นที่คุ้นหูของนักอ่านเมืองไทย
เมื่อเห็นเสื่อเก่าๆ หมอนหนึ่งใบ กระดาษฟุลสแค้พปึกใหญ่ และดินสอที่เหลาแล้วครึ่งถ้วยแก้ว ผมก็รู้แล้วว่า"พี่ชา"เริ่มงานของเขาแล้ว จนกระทั่งเมื่อหลับตาเห็นว่า ในห้องแคบๆมีเก้าอี้โยกหนึ่งตัววางอยู่ มองเห็นเครื่องพิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้ววางอยู่บนเก้าอี้ไม่มีพนัก ควันบุหรี่จางๆที่ลอยอยู่ใกล้ถ้วยกาแฟร้อนและขันใส่น้ำแข็ง ผมก็รู้ทันทีว่า"พี่ชา"เริ่มลงมือผลิตนวนิยายของเขา
เมื่อเรายังเด็ก พี่ชามักจะเล่านิทานโกหก บางทีก็ทำหุ่นกระบอกหรือหนังตะลุง เชิดชักพากย์เองทำให้เราได้หัวเราะกันไม่ไหว หรือไม่ก็พากย์โขนให้เราฟังกันครื้นเครง และที่ไม่ผิดหวังก็คือถ้าพี่ชาเล่าเรื่องผีครั้งใด เด็กๆรวมทั้งผู้เขียนจะรีบกระเถิบหนีร่องกระดานขึ้นไปอยู่บนตักคนโต พอได้เวลานอนก็รีบเข้ามุ้งคลุมโปงทั้งที่อากาศแสนร้อน .หลับกันไปเลย
ผมอาจเด็กเกินไปที่จะจำความได้ว่า พี่ชาดำเนินชีวิตด้วยอาชีพหลายอย่างเหลือเกิน จากโรงเรียนนายร้อยมาเป็นครู เสมียนพนักงาน และด้วยนิสัยที่ไม่ต้องกับราชการคือไม่ชอบมี"นาย"เขาหันไปเป็นนักดนตรีสมัครเล่น ยืนหนีบไวโอลินเสียเดินคอเอียงไปพักหนึ่ง เขากลายเป็นเสมียนโรงพิมพ์ นายท้ายเรือโยงที่ท่องเจ้าพระยา..ลัดเลาะ หาความรู้ความชำนาญไปตามคุ้งน้ำหลายต่อหลายครั้ง เมื่อนึกเบื่อ..เขาก็หันมาเขียนหนังสือและยึดอาชีพเป็นนักประพันธ์ ขายหนังสือกิน แต่งบทละครและกำกับการแสดงไปในตัว คลุกคลีอยู่ในวงการละครและกลุ่มศิลปินจนกระทั่งกลับบ้านดึกดื่นไม่เป็นเวลา มันเป็นพรหมลิขิต โชคชะตา ดวงของชีวิต และความพึงใจของ"พี่ชา"
สมัยเป็นนักเรียน ผมเคยเดินส่งต้นฉบับบทประพันธ์ให้"พี่ชา"ไปตามโรงพิมพ์และสำนักพิมพ์ต่างๆ ไม่ว่าเพลินจิตต์(สมัยสะพานดำ) สำนักพิมพ์อุดม คลังวิทยา ผดุงศึกษา เขษมบรรณกิจ เสริมวิทย์บรรณาคาร หลักเมือง บรรณาคาร จนกระทั่งประมวลสาส์นและเพลินจิตต์(ยุคหลานหลวง) หรือสมัย"ปิยมิตร"บำรุงเมืองก็ตาม สมัยสงครามญี่ปุ่น บรรดาโรงพิมพ์และสำนักพิมพ์ต่างๆส่วนมากพากันหยุดพิมพ์หนังสือขาย เพราะกระดาษและอุปกรณ์การพิมพ์มีราคาแพงลิบลิ่ว ทำให้รายได้ของ"พี่ชา"เริ่มตกวูบ ไม่เว้นแต่ละวันที่พี่ ป. นำเอาต้นฉบับไปตระเวนขายยังแหล่งรับซื้อต่างๆมักจะได้รับการปฎิเสธเป็นส่วนมาก บางวันโชคดีเจ้าของสำนักพิมพ์บางแห่งเห็นใจก็รับซื้อไว้อย่างเสียไม่ได้ หลายโรงพิมพ์ที่บอกปัดและลุกหนีเอาดื้อๆเพราะรำคาญ"ตื๊อ"ไม่ไหว สำนักพิมพ์บางแห่งอาจรับซื้อไว้ในราคาที่ถูกจนน่าใจหาย แต่ก็มีเหมือนกันที่นายทุนบางคนทุนหนาหัวใสรับซื้อดองเรื่องไว้ยังไม่กล้าพิมพ์ เพื่อรอให้กระดาษและอุปกรณ์ลงราคา
เมื่อฐานะความเป็นอยู่ของพี่ชาเริ่มคลอนแคลนเหมือนไม้หลักปักเลน พี่ชาต้องหันมาจับงานพากย์ภาพยนตร์ทันที ที่ผมรู้ก็เพราะวันหนึ่งพี่ชายของผมหมกตัวอยู่ในห้องรับแขกตั้งแต่หัวค่ำมิหนำซ้ำประตูหน้าต่างยังปิดหมดและดับไฟมืด ด้วยสัญชาติญานอยากรู้ผมจึงแอบย่องเข้าไปดู มีเสียงแกรก ..ดังลอดออกมาเกือบไม่ได้ยินและพบว่า พี่ ป.อินทรปาลิต กำลังฉายหนังดูคนเดียวด้วยเครื่องฉายภาพยนตร์ขนาดเล็ก และจอภาพยนต์ที่ใช้ทำด้วยกระดาษสีขาวแผ่นใหญ่ตรึงด้วยเป๊กติดข้างฝา ปาก็บ่นพึมพำเสียงสูงบ้างต่ำบ้างเป็นว่าตัวแสดงในหนังพูด และอาศัยแสงสว่างจากไฟฟ้าเดินทางดูบทพากย์ ผมเกือบหัวเราะก้ากออกมาแต่อดใจไว้ รีบเดินอมยิ้มขึ้นบันไดบ้านไป อาทิตย์ต่อมา พี่ชาชวนผมไปโรงหนังพร้อมด้วยสัมภาระรุงรัง ผมจึงกลายเป็นเด็กลูกหาบ มีหน้าที่แบกฟิล์มภาพยนตร์ และต้องเข้าไปนั่งปิดเปิดซาวนด์ในห้องพากย์ สนุกก็สนุก ขำตื่นเต้นเล็กน้อยแต่ก็ได้ผล และเอาผมติดก้นไปด้วยทุกครั้งที่ไปพากย์ตามโรงภาพยนตร์ในพระนครธนบุรี แต่เมื่อพี่ ป. ตระเวนไปพากย์หนังต่างจังหวัด ผมก็ไปด้วยไม่ได้เพราะติดเรียนหนังสือ
สงครามอาเชียบูรพาเลิกแล้ว ทหารญี่ปุ่นหายหน้าไปจากเมืองไทยนานแล้ว ตลาดหนังสือเริ่มคึกคักไหวตัว รายได้ของ"พี่ชา"เริ่มดีขึ้น ดีขึ้นจนเรียกได้ว่า มองไปทางไหนก็เห็นแต่นวนิยายสามเกลอ(พล นิกร กิมหงวน) เสือดำ เสือใบ วางเกลื่อนกล่นอยู่ในท้องตลาด เจ้าคุณปัจจนึกฯ คุณหญิงวาด เจ้าแห้ว หรือจำพวกเสือๆสางๆ เหล่านี้เริ่มทำสตางค์ให้กับพี่ ป.ราวกับพิมพ์ธนบัตรได้เอง ค่าของบทประพันธ์ทุกประเภทเรื่องทับทวีขึ้นสูงลิบเพราะหนังสือขายดีขนาดแย่งกันซื้อ ผมจำไม่ผิดที่เห็นว่าครั้งหนึ่งมีเจ้าของสำนักพิมพ์ถึงสี่สำนักพิมพ์เข้าไปซื้อบทประพันธ์ของ"พี่ชา"ในเวลาเดียวกันและการติดต่อซื้อเป็นไปแบบเสนอราคารับซื้อแข่งกัน
ชะตาชีวิตของ"พี่ชา"ขึ้นแล้วก็ลง..ลงแล้วก็ขึ้น ไปตามดวงและพรหมลิขิต เคยนั่งรถเจ๊ก(รถลาก) สามล้อ รถประจำทาง เก๋งหลายประตูหลายยี่ห้อ รถแท้กซี่หรือย่ำต๊อกไปตามบาทวิถีถนนหลวง บางทีก็ไปโอ่อ่าอยู่แถว เชียงใหม่ ลำปาง ศรีราชา ชะอำ หัวหิน สงขลา ชุมพร บ้านดอน หาดใหญ่ ยะลา เบตง . บางทีก็เลยไปถึงปีนัง พี่ชาเคยบอกผมว่า ใครมีความสุขก็สุขด้วย ส่วนตัวเขาเองทุกข์กับใครไม่เป็น สิ่งต่างๆที่ผ่านพบจึงถือว่าเป็น กำไรชีวิต การกีฬาที่"พี่ชา"โปรดปรานมากคือแบดมินตัน ฟุตบอลแล้วก็ มวย ถ้าสนามฟุตบอลมาตรฐานสามารถย่อขนาดลงได้อีก เขาคงจะมีสนามฟุตบอลไว้ในบ้านเช่นเดียวกับที่เขาสร้างคอร์ทแบ็ดหรือค่ายซ้อมมวยไว้ในบ้านเหมือนกัน ดังนั้น ชีวิตของพี่ชาจึงเป็นชีวิตที่ชื่นชอบเป็นที่นิยมรักใครนับถือในบรรดาบุคคลหลายประเภทไม่ว่ากรรมกร นักเรียน นิสิตนักศึกษา พ่อค้าครูอาจารย์หรือศิลปิน ซึ่งส่วนมากเรียกพี่ชาว่าพี่ ป. คุณ ป. อา ป.
อา ป. คุณ ป ..หรือพี่ ป. จากพวกเราไปแล้วโดยไม่มีวันกลับ ทิ้งแต่ความเศร้าสลดเสียดายอย่างสุดซึ้งไว้ให้เรา
ผมอยากจะเขียนอะไรไว้สำหรับเป็นอนุสรณ์ไว้อาลัยแด่"พี่ชา"พี่ชายคนที่ 5 ของผมให้มากที่สุด แต่ที่เขียนมาก็อาจมากไปสำหรับหนังสือเล่มนี้เพราะต้องเบียดแบ่งเนื้อที่ไว้สำหรับญาติพี่น้อง ท่านที่เคารพที่มีความรักนับถือพี่ชาจะได้เขียนบ้าง จึงขอขอบพระคุณท่านผู้จัดทำที่ได้กรุณาให้ผมซึ่งเป็นน้องปลายเถาของคุณ ป.อินทรปาลิต ได้มีโอกาสระบายความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับพี่ที่จากไป
ขอให้วิญญานของพี่จงไปสู่สุคติ บาปกรรมที่พี่ทำไว้น้อยเหลือเกินจงผลักดันให้พี่ไปสู่สวรรค์ ถ้าชาติหน้ามีจริงและเราเกิดกันได้อีก ผมขออธิษฐานไว้เลยว่าขอให้เกิดไปเป็นน้องพี่อีก
ผมใจหาย สลดใจเป็นที่สุดเมื่อเพื่อนร่วมงานมาถามว่า "พี่ชายคุณถึงแก่กรรม คุณได้รับวิทยุโทรเลขที่มีไปแล้วหรือยัง "
โกมล อินทรปาลิต
8 พฤศจิกายน 2511
All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.