ระลึกถึง ป. อินทรปาลิต ตอนที่ 7 |
ที่มา: | หนังสือ "หนังสือที่ระลึกในการประชุมเพลิงศพ ป. อินทรปาลิต" |
ข้อเขียนโดย: | ชาญหัตถกิจ |
ตีพิมพ์บน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการศึกษา | |
พิมพ์โดย: | คุณณัฐพงษ์ ดำรงรัตน์ |
อนิจจังไม่เที่ยง !
"สังเวียนชีวิต" ภายใต้ชื่อเรื่อง "หล่อนมากับสายฝน" ของ ป.อินทรปาลิต ใน "เดลินิวส์" ฉบับวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2511 เล่าถึงเรื่องเด็กสาวจากต่างจังหวัดผู้มาพึ่งใบบุญอาศัยอยู่ด้วย ได้หายตัวไปพร้อมกับเครื่องพิมพ์ดีดและข้าวของอันมีค่าอย่างอื่น จบลงด้วยประโยคอันคมคายและเต็มไปด้วยความหวังของผู้เขียนที่ว่า "คุณสนิท เอกชัย อาจจะช่วยฉันอีกก็ได้ ถ้าท่านรู้ความจริงในเรื่องนี้"
เป็นการจบที่ข้าพเจ้าเองเห็นใจเป็นอย่างมาก ถึงกับเชื่อล่วงหน้าว่าอย่างไรเสียคุณสนิท เอกชัย คงไม่นิ่งดูดาย และคงจะยื่นมือเข้าช่วยเหลืออีกสักครั้ง
"เพราะเครื่องพิมพ์ดีดเป็นเครื่องมือหากินสิ่งเดียวเท่านั้นที่ผมได้พึ่งมัน" นี่คือถ้อยคำที่ ป.อินทรปาลิต ระบายออกมาจากหัวใจในบทความชิ้นนั้น
มิทันที่จะได้ทราบผลในเรื่องนี้ ข่าวล้อมกรอบเล็กๆในหน้าหลังของ "เดลินิวส์" ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2511 คืออีก 4 วันต่อมา แจ้งข่าวมรณกรรมของ ป.อินทรปาลิต ก็ทำให้ข้าพเจ้าตกตะลึงงงงันไปพักใหญ่
แทบจะเชื่อไม่ลงเหมือนกัน เพราะยังสดๆร้อนๆอยู่แท้ๆ
แต่ก็นั่นแหละ คนเราอาจจะหนีอะไรๆได้หลายอย่างพ้น แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนที่สุดที่จะหนีไม่พ้นคือ "ความตาย"
วัย 58 ยังไม่สุกงอมเกินไป ป.อินทรปาลิต ควรจะต่อสู้ไปได้อีกไกลนัก ถ้าโรคร้ายไม่เบียดเบียนรุมรึงเอาอย่างรุนแรง
ป.อินทรปาลิต ได้ต่อสู้ตลอดมาในวิธีทางนี้จนเป็นที่รู้จักมักคุ้นของประชาชนอ่านอย่างแพร่หลาย เขาต้องปราชัยพ่ายแพ้อย่างย่อยยับคาสังเวียนทั้งๆที่ปากกายังอยู่ในมือ
สมัยเด็กป.อินทรปาลิต เคยเป็นนักเรียนนายร้อย บิดาของเขาซึ่งเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ขนาดครูบาอาจารย์ และเป็นที่เคารพรักของข้าพเจ้าด้วย ต้องการให้เขาสืบเลือดเนื้อเชื้อไขของท่าน โดยหวังว่าเขาจะเป็นลูกของกองทัพบกคนหนึ่งในอนาคต แต่เส้นทางชีวิตของ ป.อินทรปาลิต เบนไปอีกทางหนึ่ง - จะว่าเป็นเคราะห์ร้ายหรือโชคดีก็พูดยาก - จึงพลาดโอกาสที่จะได้เป็นนายทหารสมความปรารถนาของท่านบิดา แทนที่จะได้ถือดาบ กลับมาถือปากกาแทน
ถ้า ป.อินทรปาลิต ได้เป็นทหาร เขาอาจจะได้เป็นนายพลเหมือนกับเพื่อนบางคนรุ่นราวคราวเดียวกัน
และถ้าหากเขาเป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงด้วย เขาก็อาจจะได้รับสมญานามว่า"นายพลนักประพันธ์" ต่างกว่านายพลธรรมดาสามัญคนอื่นๆซึ่งไม่มีอะไรพิเศษนอกจาก"ความเป็นนายพล"
แต่ก็นั่นแหละ ถ้าชะตาชีวิตของ ป.อินทรปาลิต รุ่งเรืองเฟื่องฟู และก้าวหน้าไปถึงขั้นนายพลจริง นิยายชุดสามเกลอ หรือเสือใบเสือดำอะไรเทือกนี้อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ ใครจะรู้?
ครั้งหนึ่งป.อินทรปาลิต เคยโอ่อ่าภูมิฐานปานเศรษฐี สมองของเขาชักใยออกมาเป็นเงินทุกลมหายใจ ปากกาที่ลากไปบนกระดาษ คือเงินที่ไหลต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย เขาปั้นเงินได้อย่างชนิดที่เกือบไม่มีใครเทียบเท่า และอย่างชนิดที่เรียกว่า "เงินทองไหลมาเทมา" อยากกินอะไรได้กิน อยากไปไหนได้ไป ชีวิตของเขาโอ่โถงสมบูรณ์มิใช่น้อย ล้ำหน้าบรรดาเพื่อนนักประพันธ์อีกหลายคน ฐานะและสภาพของเขาในยุคนั้น ทำลายล้างคำพูดที่ว่า "นักประพันธ์ใส้แห้ง" ลงได้อย่างน่าอัศจรรย์
แต่ ใครจะนึกฝันว่า ในบั้นปลายของชีวิต ป.อินทรปาลิต ต้องจำใจย้ายบ้านที่เคยอยู่ อู่ที่เคยนอน ไปอาศัยผู้อื่นอยู่ ต้องหอบสังขารอันทรุดโทรมขึ้นรถเมล์ไปส่งต้นฉบับถึงสำนักพิมพ์ ดูมันออกจะเหลือเชื่อและโหดร้ายทารุณเอาการ "สังเวียนชีวิต" ของป.อินทรปาลิต 2-3 บท ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกหดหู่และเหี่ยวแห้งอย่างล้ำลึก
ในที่สุดป.อินทรปาลิต ก็ต้องจบชีวิตอันน่าสงสารลงบนเวทีแห่งการต่อสู้เพียงยกที่ 58 ทั้งๆที่มือยังสวมนวมอยู่ แม้จะเป็นการจบชีวิตที่ยังไม่สุกงอมลงในท่ามกลางความยากแค้นขัดสน แต่ก็เป็นการจบที่สะอาด บริสุทธิ์ ได้รับความเห็นอกเห็นใจอย่างน่าภาคภูมิ
"อนิจจังไม่เที่ยง!" ย่อมอุบัติขึ้นแก่มนุษย์ทุกชีวิตไม่เลือกหน้า ผู้ยิ่งใหญ่บางคนที่เคยมีอำนาจวาสนากระเดื่องเฟื่องฟู เป็นที่เคารพยกย่องของคนทั้งหลายยังจบชีวิตอันเคยบรมสุขในคุกได้โดยแทบจะไม่มีคนเห็นอกเห็นใจ มิร้ายยิ่งกว่าป.อินทรปาลิต หลายเท่าหรือ?
ทุกคนต้องตาย นี่เป็นของแน่! ตายแล้วจะไปเป็นอะไร อยู่ที่ไหน? รู้กันได้ยาก ต้องสุดแต่บุญกรรมที่ได้สร้างสมไว้ ก็จะรู้ได้อย่างไรเล่าในเมื่อคนเราที่ยังมีชีวิตอยู่แท้ๆยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ขณะนี้ตัวเองเป็นอะไร อยู่ที่ไหน?
"ชาญหัตถกิจ"
29 พฤศจิกายน 2511
All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.