Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

ระลึกถึง ป. อินทรปาลิต ตอนที่ 4





ที่มา: หนังสือ "หนังสือที่ระลึกในการประชุมเพลิงศพ ป. อินทรปาลิต"
ข้อเขียนโดย: ส. บุญเสนอ
  ตีพิมพ์บน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการศึกษา
พิมพ์โดย: คุณเอกรัตน์ สุวรรณนาวา(00404)

ก่อนจะถึง.....พล , นิกร, กิมหงวน

ผมรู้จัก ป. อินทรปาลิตที่สำนักงาน "เพลินจิตต์" ในราวกลางปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จะเป็นเดือนอะไร, และวันที่เท่าไหร่ ผมจำไม่ได้

แต่ผมรู้จักนาม ป. อินทรปาลิตก่อนหน้านั้นมานาน จากบทประพันธ์เรื่อง "ใจนักรบ" ของเขาที่ลงพิมพ์ในหนังสือภาพยนตร์ชุดของนาย ต. เง็กชวน

"เพลินจิตต์" เป็นชื่อของสำนักพิมพ์หนังสืออ่านเล่นราคาถูก จะว่า "ป็อคเกตบุ๊ค" ก็ไม่เชิง เพราะเล่มใหญ่กว่า แต่เนื้อหนังสือบางกว่า เป็นที่รู้จักกันดีว่า "หนังสืออ่านเล่นเล่มละ ๑๐ สตางค์" เอากันยังงั้นดีกว่า

กำเนิดของ "เพลินจิตต์" เริ่มด้วยกำลัง ๓ ฝ่ายด้วยกันคือ คุณเวช กระตุฤกษ์ เป็นฝ่ายนายทุน ผมเป็นฝ่ายหาเรื่องมาลงพิมพ์ คุณเหม เวชกร เป็นฝ่ายจิตรกร รับเหมาหมดตั้งแต่หน้าปกตลอดจนภาพแทรกในเล่ม ลางทีแถมการ์ตูนท้ายเล่มอีกด้วย

"เพลินจิตต์" เล่มแรกออกจำหน่ายเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ จำได้ว่าพิมพ์ครั้งแรก ๓,๐๐๐ เล่ม จำหน่ายได้หมดใน ๒ วัน จึงได้พิมพ์เพิ่มอีก ๒,๐๐๐ เล่มก็หมดอีก เป็นอันว่าหยั่งตลาดรู้แล้ว เรื่องที่ ๒ พิมพ์ ๖,๐๐๐ เล่มเลยทีเดียว และก็จำหน่ายหมดภายใน ๒ - ๓ วัน เรื่องต่อ ๆ ไปจึงพิมพ์เพิ่มขึ้นทีละ ๒,๐๐๐ เล่มบ้าง ๓,๐๐๐ เล่มบ้าง สุดแล้วแต่นามปากกาผู้แต่ง บางเรื่องก็ต้องพิมพ์เป็นครั้งที่ ๒ จำนวนพิมพ์สูงขึ้นถึง ๓๐,๐๐๐ เล่มก็ถึงจุดอิ่มตัว ต่อจากนั้นมาก็ค่อยๆ ลดลงมาแต่ไม่ฮวบฮาบ จนกระทั่งต้องหาวิธีเปลี่ยนแนวใหม่ ส่วนกำหนดการออกก็เหมือนกัน แรกๆ กะว่าจะออกจำหน่ายเดือนละ ๒-๓ เล่ม เมื่อหนังสือขายดีก็ร่นมา ๗ วันต่อเล่ม แล้ว ๕ วันต่อเล่ม และ ๓ วันต่อเล่ม ลองหลับตานึกดูก็แล้วกัน ถ้าผู้อ่านซื้อไว้ทุกๆ เล่ม ตั้งหนังสือจะกองโตแค่ไหน แล้วนักอ่านผู้ใดจะทนซื้อได้ตลอดไป

ยุคขายดี, สำนักพิมพ์หนังสือประเภทเดียวกันเกิดขึ้นอีกหลายคณะ ที่เป็นปึกแผ่นมี คณะอุเทน ของทองใบ พูลโภคา, คณะวัฒนานุกูล ของผล วัฒนะ, คณะหลักเมือง ของนาย ต. บุญเทียม แต่น่าจะเรียกเป็นค่ายมากกว่า เพราะต่างมีนักเขียนประจำค่ายของตนโดยเฉพาะ

ค่าย "เพลินจิตต์" ยุคแรกนั้นมีผมเป็นตัวยืนโรง แล้วก็ยืนอยู่ไม่ไหว เพราะเขียนให้เขาพิมพ์ไม่ทัน นักเขียนที่ร่วมงานกันในครั้งนั้นมี "รักร้อย", "พรานบูรพ์", "เฉลิมวุฒิ", "สุพัตรา" สมุท ศิริโข, ส. เทพกุญชร, ส. เทพโยธิน, บุญส่ง กุศลสนอง, โสภา เสาวลักษณ์, ส. เนาว์สาย, ดุสิต วาสุกรี, "อาษา", วร์ กระแสสินธุ์, ป. อินทรปาลิต, จำนง วงศ์ข้าหลวง, ปอง เผ่าพัลลภ, มนัส จรรยงค์, อ. มนัสวีร์, ฤดี จรรยงค์, อ.อรรถจินดา, ป. หูวานนท์. "ศรีอิศรา" ป.ส. อรรถยุกติ, ไม้ เมืองเดิม. "พาณี", รัตนา อมัติรัตน์, ดวงเดือน รัตนาวิน, อ. บุศปะเกศ, สมหวัง พงศ์เสนา และอีกหลายท่านที่จำไม่ได้หมด และหลายท่านที่ออกนามมานี้ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว

ส่วนค่าย "อุเทน" ของทองใบ พูลโภคา มีเลียว ศรีเสวก กับกลุ่มนามปากกาของเขาเป็นตัวยืนโรง ค่าย "วัฒนานุกูล" ก็มีนักเขียนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นใครบ้างผมจำได้ไม่ถนัด, ฝ่ายค่าย "หลักเมือง" ของนาย ต. บุญเทียม มีนักเขียนที่สังกัดอยู่ในเครือหนังสือพิมพ์ที่นาย ต. บุญเทียมเป็นเจ้าของอยู่หลายฉบับ แต่ในระยะต่อมานักเขียนเหล่านี้ได้ย้ายค่ายสับสนปนเปกันยุ่ง

นอกจากค่ายใหญ่ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีติดตามมาอีกหลายค่าย แต่เมื่อถึงคราวยุคเสื่อม แต่ละค่ายค่อยๆ ยุบตัวเองเป็นลำดับทจากท้ายไปก่อน จนปัจจุบันยังคงเหลืออยู่แต่ "เพลินจิตต์" แห่งเดียว

วันนั้น ป. อินทรปาลิต มาหาผมพร้อมด้วยต้นฉบับเรื่อง "นักเรียนนายร้อย"

เราออก "เพลินจิตต์" ไปได้มากเล่มจนจับตลาดไว้แล้ว

ขณะนั้น นาม ป. อินทรปาลิต ยังใหม่ นายทุนซึ่งกลายเป็นนายห้างไปแล้ว ไม่แน่ใจว่าผู้อ่านจะต้อนรับนักเขียนหน้าใหม่ผู้กระโดดมาจากสนามสมัครเล่น

แต่ผมเห็นว่าควรสนับสนุนและทดลอง และผมเองก็มั่นใจ ต้นฉบับเรื่อง "นักเรียนนายร้อย" จึงผ่านไปถึงมือหัวหน้าช่างเรียง

ป. อินทรปาลิต เริ่มต้นเป็นนักเขียนอาชีพด้วยเรื่อง "นักเรียนนายร้อย" ที่ "เพลินจิตต์"

ผลที่ปรากฏ, "นักเรียนนายร้อย" ขายดี, จดหมายจากผู้อ่านมาถึงสำนักงานในทางชมเชย แสดงว่าผู้อ่านต้อนรับ

นายห้างหัวเราะ, ป. อินทรปาลิต ได้รับคำสั่งให้เขียนมาอีก

เรื่อง "ยอดสงสาร", "เมียขวัญ", "เรียมจ๋า", "ผู้รับบาป", "หนามเตย", และ ฯลฯ ทยอยกันติดตามมา

ยุคนั้น นิยายประเภทรักโศกมีผู้นิยมเขียนกันมาก สำนักพิมพ์แห่งอื่นก็นำหน้าด้วยเรื่องประเภทนี้ น้ำตาผู้อ่านชักจะออกมากเกินไป

ความนิยมของผู้อ่านเรื่องประเภทนี้ลดลง นั่นคือ, การจำหน่ายหนังสือตก, นายห้างก็วิตก

มนัส จรรยงค์ แนะนำให้ ป. อินทรปาลิต ลองเขียนเรื่องประเภทตื่นเต้นผจญภัยบ้าง

ป. อินทรปาลิต เชื่อและทดลองเรื่อง "ตำรวจสันติบาล" จึงพิมพ์เป็นเล่มที่สำนัก "เพลินจิตต์"

หนังสือขายดีอีก, ทั้งนายห้างและ ป. อินทรปาลิต ต่างยิ้มย่องเข้าหากันได้

ต่อมา, ผมกับ ป. อินทรปาลิตแยกทางกันไปตามจังหวะของชีวิต ผมแยกไปสู่งานหนังสือพิมพ์ ป. อินทรปาลิต หันไปสู่เวทีละครเสียพักหนึ่ง ในฐานะผู้ประพันธ์เรื่องและกำกับการแสดง งานละครทรุดเซจึงกลับมาเขียนประจำที่สำนัก "เพลินจิตต์" อีก แล้วก็ย้ายไปครองงานที่สำนักพิมพ์ "ปิยมิตร"

ป. อินทรปาลิต เริ่มการเขียนอีกแบบหนึ่ง คือเรื่อง "เสือใบ" และ"เสือดำ" ซึ่งทำเงินและทำชื่อให้ ป. อินทรปาลิต มากพอดู

ผมจำไม่ได้ถนัดว่าอะไรทำให้ ป. อินทรปาลิต หันไปเขียนแนวตลกนิยายชุดสามเกลอ ดูเหมือนว่าเพื่อนคนหนึ่งประมาทว่าเขาเขียนเรื่องตลกไม่ได้ แต่ ป. อินทรปาลิต เชื่อว่าเขาทำได้ จึงได้ลองทำ

พล, นิกร, กิมหงวน ถือกำเนิดขึ้นมาในเรื่องที่ชื่อว่า "อายผู้หญิง" ที่สำนัก "เพลินจิตต์"

แล้ว พล, นิกร, กิมหงวน ก็ติดตามมาอีกจนนับไม่ถ้วนและไม่สิ้นสุด แม้ผู้เขียนสิ้นสุดไปแล้ว

สำนักพิมพ์ที่ซื้อลิขสิทธิ์ไว้ คงจะต้องพิมพ์ต่อไปซ้ำๆ อีกไม่สิ้นสุด

ป. อินทรปาลิต ตายไปแล้ว, แต่ พล, นิกร, กิมหงวน ยังมีชีวิต.



ส. บุญเสนอ





All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.