หลวงเมืองพูดถึงสามเกลอ |
ที่มา: | จากหนังสือ "ใจประทับใจ ตอน เปลืองใจ " พิมพ์ครั้งแรก : สำนักพิมพ์มติชน |
โดย: | "หลวงเมือง" |
ตีพิมพ์บน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาติเพื่อการศึกษา | |
พิมพ์โดย: | คุณแอน สมาชิกหมายเลข 00712 |
ตอนเด็กๆ ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสืออ่านเล่นเพราะพี่ๆ ซื้อมาอ่านกัน เรื่องที่อ่านแล้วเศร้าเป็นของ "ป.อินทรปาลิต" ละครคณะ "แม่เลื่อน" นำบทประพันธ์ของท่านมาดัดแปลงเป็นละครแสดงตามโรงภาพยนตร์ สมัยนั้นเรียกว่าวิก
อ่านเรื่อง สามเกลอ ของ "ปอง เผ่าพัลลภ" เป็นเรื่องของชายสามคนไม่มีงานทำ เช่าบ้านอยู่ด้วยกัน มีเสื้อผ้าที่พอแต่งออกนอกบ้านได้ชุดเดียว คนหนึ่งออกนอกบ้าน อีกสองคนก็ต้องอยู่บ้านและคอยรับหน้า "เจ๊" เจ้าของบ้านที่มาทวงค่าเช่า
อีกเรื่องหนึ่งชื่อ นักหนังสือพิมพ์ ของ "บุญส่ง กุศลสนอง" จำเนื้อเรื่องไม่ได้ แต่จำได้ว่าการเบิกเงินเดือนยากเย็นเข็ญใจอย่างยิ่ง นักข่าวต้องแต่งโคลงทวง
"ใบเบิกเงินฉบับนี้แจกแจง
เหตุใคร่เห็นดำแดงเลิกใบ้
บ่ซุ้ยสักเดียวแดงงานมาก จริงวา
เบิกแต่เงินบ้านใช้ไป่เว้นเมียถาม"
(ปัจฉิมลิขิต : ถ้ายังไม่ยอมจ่าย ฉบับหน้าจะเขียนมาเป็นลำตัด)
สมัยนั้นมีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงลำตัดประจำฉบับด้วย
วันหนึ่ง ป.อินทรปาลิต หยุดเขียนเรื่องรักโศก หันไปเขียนเรื่องตลกชุด "พล นิกร กิมหงวน" พอออกวางตลาดก็ทำให้เมืองไทยอึงคนึงไปด้วยเสียงหัวเราะของผู้อ่านตั้งแต่เรื่องแรกคือ "อายผู้หญิง" ถึงกับว่ากันว่าไม่ควรอ่านในรถรางตอนจอดรอหลีก แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าสมัยก่อนสงคราม คนเรายังใจดีและไม่หวาดระแวง ถ้าท่านนั่งเฉยๆ แล้วปล่อยก๊ากออกมา โดยในมือถือหนังสือ "พล นิกร กิมหงวน" ทุกคนในที่นั้นย่อมเข้าใจ ที่แย่ก็คือแม้ไม่ได้อ่าน แต่บทตลกตอนหนึ่งบังเอิญปรากฏขึ้นในหัวใจอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย แล้วหัวเราะลั่นคนเดียว คนต้องมองกันทั้งรถ อาจต้องลงจากรถก็ได้เพราะอาย
ไม่ว่าจะมีภาพยนต์เรื่องอะไรมาฉาย สามเกลอจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องเสมอ เช่น เรื่องเกาะทะเลใต้ โจรในแบกแดด ล่องหน เดชผีดิบ และสาวสองพันปี เป็นต้น
แต่บรรยากาศจะเป็น พล นิกร กิมหงวน อย่างแท้จริง
ข้าพเจ้าเชื่อว่านิยายชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน มีลักษณะจะคล้ายหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ออกทุกวันเสาร์ เพราะไม่ว่าท่านจะศึกษาค่าของเงินบาท ราคาสิ่งของและค่าจ้างต่างๆ งานมหกรรม เช่น เฉลิมวันชาติ ฉลองรัฐธรรมนูญ สถานการณ์ของประเทศ งานบุปผาชาติ รัฐนิยม ชาตินิยม จะค้นพบได้จากหนังสือขบขันชุดนี้ โดยเฉพาะยุคก่อนสงคราม
ข้าพเจ้ารู้สึกเมื่อไม่นานนักมานี้ว่า นิยายพล นิกร กิมหงวน ในยุคเผด็จการ มีลักษณะล้อเลียนลัทธิชาตินิยม สังเกตเห็นเพลงปลุกใจหลายเพลง ที่ตัวละครในเรื่องนำมาร้องมักเติมคำว่า "เชิ้บเชิ้บ" และ "เป๊กพ่อ" กับล้อเลียนราชทินนามของข้าราชการ เช่น "คุณหลวงวิจารณ์วาทกิจ" เป็นต้น รัฐบาลสมัยนั้นก็ไม่ได้โมโหแต่อย่างใด
หลายเรื่องสะท้อนความจริง เป็นประวัติศาสตร์ความเป็นอยู่ ความคิดจิตใจ ตลอดจนอารมณ์หมู่ของไทยยุคนั้น อย่างเรื่องรัฐบาลส่งเสริมให้คนไทยเลี้ยงไก่ แต่เราพากันสั่งไก่ต่างประเทศราคาแพงเข้ามาเลี้ยง ไก่ฝรั่งตายง่ายที่สุดและตายยกเล้า ที่ไม่ตายก็กลายเป็นไก่พื้นเมืองไป ราคาไข่ไก่ฝรั่งฟองละบาท ขณะที่ไข่เป็ดไข่ไก่ธรรมดาฟองละสามสตางค์ครึ่ง กับข้าวมื้อละสลึงก็กินกันทั้งบ้าน
All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.