Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

พล นิกร กิมหงวน กับ อินเทอร์เน็ต





ที่มา: ต่วยตูนพ็อกเก็ตบุ๊ค ปักษ์หลัง เดือนกุมภาพันธ์ 2543
โดย: แมงกะพรุนไฟ
  ตีพิมพ์บน Internet โดยได้รับความเห็นชอบจากคุณแมงฯ แล้ว
พิมพ์โดย: Webmaster



ในสมัยก่อน (ซึ่งก็นานพอสมควรแล้วละครับ) ว่ากันว่าถ้าเราโยนก้อนหินก้อนหนึ่งเข้าใส่ฝูงชน คนที่โดนก้อนหินก้อนนั้นตกใส่กะบาล จะต้องเป็นแฟนของสามเกลออย่างแน่นอนที่สุด ส่วนใครเป็นคนว่า ฝูงชนที่รวมกันอยู่นั้นนั่ง หรือยืน หรือนั่งยองๆ ก้อนหินก้อนนั้นใหญ่หรือเปล่า ความเร็วลมในขณะนั้นเป็นเท่าไร ก็อย่าไปสนใจมันเลยครับ เอาเป็นว่านิยายสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน โด่งดังมากๆ เมื่อกว่า 30ปีมาแล้ว ก็แล้วกัน

ใครที่ไม่ใช่แฟนของสามเกลอ คงจะพอเดากันได้นะครับว่า พล นิกร กิมหงวน ก็คือชื่อตัวละครเอกในเรื่องนั่นเอง สำหรับผู้แต่งนิยายชุดนี้ก็คือ ป. อินทรปาลิต หรือ ปรีชา อินทรปาลิต ซึ่งท่านก็ได้ลาจากโลกนี้ไปได้กว่า 30 ปีมาแล้ว

ป. อินทรปาลิตใช้เวลา 30 ปีเขียนสามเกลอไว้กว่า 1,000 ตอน (อาจจะถึง 2,000 ตอนเสียด้วยซ้ำ) เป็นนิยายชุดที่ยาวที่สุดในเมืองไทย ตีพิมพ์บ่อยที่สุดในเมืองไทย ตีพิมพ์ด้วยจำนวนที่มากที่สุดในเมืองไทย (มากกว่า 1,000,000 เล่ม) และน่าจะมีแฟนนานุแฟนมากที่สุดในเมืองไทยอีกเช่นเดียวกัน เอาเป็นหนังสือของคุณโน้ส อุดมแต้ (วัยรุ่นข้างบ้านผมเขาเรียกกันอย่างนี้) ที่พิมพ์ 20 กว่าครั้งแล้วชิดซ้ายไปเลย

และเชื่อไหมครับว่าในปัจจุบัน ยังมีสามเกลอกว่า 200 ตอน (ไม่รู้เหมือนกันว่าพิมพ์ครั้งที่เท่าไรแล้ว) ออกวางจำหน่ายอยู่ทั่วๆ ไป ราคาก็ถูกแสนจะถูกครับ ตอนหนึ่งหนาเกือบ 200 หน้า ราคา 15 บาท แถมเป็นยาแก้โรคเครียด โรคเซ็ง เบื่ออาหาร ท้องเฟ้อ (แหม ชักจะบรรยายสรรพคุณมากไปสักหน่อย) ได้เป็นอย่างดี

ป. อินทรปาลิต เขียนสามเกลอครั้งแรกเมื่อปี 2482 โดยตอนนั้นมีตัวชูโรงแค่ 2 คน คือ พล พัชราภรณ์ และนิกร การุณวงศ์ ทั้งสองก็เป็นลูกผู้ดีมีสกุล คงจะเทียบได้กับลูกหลานของบรรดาไฮโซในสมัยนี้ ทั้งสองก็เที่ยวสำมะเลเทเมาไปตามประสา "หนุ่มรักสนุก" หลังจากสองเกลอออกอาละวาดได้ไม่เท่าไร ป. อินทรปาลิต ก็เพิ่มตัวละครเอกเข้าไปอีก 1 คน โดยให้ชื่อว่า กิมหงวน ไทยเทียม ทั้งชื่อและนามสกุล ก็บอกอยู่แล้วละครับว่าเป็นลูกของคนจีน แต่ที่พิเศษก็คือเป็นทายาทของมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของเมืองไทย และยังชอบฉีกธนบัตรเล่นเป็นงานอดิเรกอีกด้วย กิมหงวนสร้างความประทับใจให้กับผู้อ่านในตอนแรก ด้วยการฉีกแบงค์ใบละ 10 บาท ซึ่งคงจะเทียบได้กับแบงค์ใบละ 500 บาทในยุค IMF ครองเมืองในปัจจุบัน

พล พัชราภรณ์ นั้นรูปหล่อ เจ้าชู้ ร้ายเงียบ และถนัดในบทบู๊ นิกร การุณวงศ์ นั้นชอบร้องลิเก ง่วงเหงาหาวนอนเป็นอาจิณ และกินจุ (กินก๋วยเตี๋ยวแห้ง 3 น้ำ 4 บะหมี่อีก 2 ถ้วย) ส่วนกิมหงวนนั้นสูงโย่งโก๊ะ ทะลึ่งตึงตัง และอวดร่ำอวดรวย เมื่อทั้งสามร่ำรวยพอฟัดพอเหวี่ยงกัน ป. อินทรปาลิต จึงเนรมิตให้ทั้งสาม สร้างความหรรษาให้กับผู้อ่านในทุกรูปแบบ ก็คนรวยนี่ครับ จะทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด แถมชอบสนุกสนานเฮฮา ไม่วางมาดวางฟอร์ม ทั้งสามจึงได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างรวดเร็ว

ภายหลัง "สามเกลอ" ได้กลายสภาพเป็น "สี่สหาย" เมื่อมี ดร.ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ เข้ามาร่วมขบวนการ คุณหมอดิเรกจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และก่อนจะกลับเมืองไทยได้แวะดูงาน ที่ประเทศอินเดียอีกหลายเดือน คุณหมอจึงบ้าทั้งฝรั่งและแขก และติด verb to be งอมแงม โดยทึกทักเอาว่าภาษาไทย ต้องมีคำว่า "เป็น" อยู่ทุกประโยค ขอยกตัวอย่างสามเกลอมาหนึ่งฉาก

เจ้าคุณปัจจนึกฯ เดินมาส่ง ดร. ดิเรก ที่ประตู
"ผมเป็นลาล่ะครับ" ดร. ดิเรกพนมมือไหว้
"เออ จะเป็นลาหรือม้า ก็ตามใจแก" เจ้าคุณปัจจนึกพูดยิ้มๆ

สำหรับตัวละครที่มีบทรองลงมา ที่น่ากล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้ก็เช่น ภรรยาของสี่สหาย เจ้าคุณปัจจนึกฯ เจ้าคุณประสิทธิ์ฯ เจ้าคุณวิจิตรฯ คุณหญิงวาด ลูกๆ ของสี่สหาย ลุงเชย และ ศักดิ์แห้ว โหระพากุล (คนนี้เป็นคนใช้)

เสน่ห์ของนิยายสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน นั้นมีมากมายจนจาระไนไม่จบไม่สิ้น ผมเริ่มอ่านตอนแรก เมื่ออายุได้ประมาณ 10 ขวบ (ตอนนี้สามสิบกว่าขวบแล้วครับ) จึงทราบว่าในโลกนี้ยังมีหนังสือที่สนุกกว่า หนังสือเรียนอยู่มากมาย และเริ่มบ้าการอ่านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่สามเกลอนี่แปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือตอนเด็กๆ อ่านสามเกลอก็รู้สึกว่าตลกพอสมควร แต่พออายุมากขึ้น ได้ผ่านโลก (ไม่ใช่โรค) มากขึ้น ย้อนกลับไปอ่านตอนเดิมใหม่ๆ ก็จะรู้สึกว่าตลกมากขึ้น ได้อรรถรสมากขึ้น และที่แน่นอนที่สุดก็คือ ต่อมหัวเราะทำงานมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

เคยมีคนทำการวิเคราะห์วิจัยว่าทำไมผลงานอย่างสามเกลอของ ป. อินทรปาลิต ถึงอยู่ยงคงกะพันมาจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งสรุปได้คร่าวๆ ว่า ด้วยสำนวนการเขียนที่มองเห็นภาพพจน์ คำบรรยายลักษณะของตัวละครที่เหมือนจริง การอิงกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต และการเขียนโดยใช้ภาษาพูดทั่วๆ ไป ไม่ได้ใช้สำนวนโวหารขั้นสูงแต่ประการใด นอกจากนั้นตัวละครแต่ละตัวยังมีพัฒนาการตามอายุจริงๆ เช่นเมื่อ พล นิกร กิมหงวน แต่งงานแล้วก็มีลูก หรือการที่ญาติผู้ใหญ่ของสามเกลอ สิ้นบุญกันไปตามอายุขัย

ผมเห็นจะยอมรับได้อย่างออกหน้าออกตาว่าผม "บ้าสามเกลอ" อยู่พอสมควร (จริงๆ เยอะมาก) สมัยเรียนอยู่มัธยม เคยไปด้อมๆ มองๆ หาบ้าน "พัชราภรณ์" และบ้านของสามเกลอคนอื่นๆ แถวพญาไท ก็ไม่รู้ว่าใครหลอกใคร ไอ้เพื่อนคนที่ไปด้วยกับผม ก็ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า พล นิกร กิมหงวน มีตัวตนอยู่จริงๆ หลังจากตากแดดอยู่ 2-3 ชม ไอ้บ้า 2 คนก็เดินคอตกกลับโรงเรียน แล้วปรารภกันว่า "เขาคงย้ายบ้านกันไปแล้วล่ะ"

พออายุมากขึ้นค่อยหูตาสว่างว่า เป็นเรื่องแต่งขึ้นทั้งเพ คิดดูซิครับว่าขนาดเด็กฉลาดๆ อย่างผมในสมัยก่อนยังหลงเชื่อ คงจะมีคนอีกไม่น้อยที่คิดว่าสามเกลอมีตัวตนอยู่จริงๆ และไม่ว่าคุณจะได้รับรางวัลทางด้านวรรณกรรมอะไรมาก็ตาม ถ้าเรื่องที่คุณเขียนไม่สามารถทำให้คนคล้อยตามได้ อย่างสามเกลอ ผลงานชิ้นนั้นก็ไม่มีค่าอะไรเลย

แหม ชักจะออกนอกเรื่องกันไปมากมายแล้วนะครับ เอาเป็นว่าผมบ้าสามเกลอเอามากๆ และมีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่ผมกำลังเล่นอินเทอร์เน็ตอยู่ ก็ไปเจอ web site (คล้ายๆ กับ บ้านหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่บนอินเทอร์เน็ต) ในนั้นมีข้อมูลเกี่ยวกับมาร์ค ทเวน อยู่ ผมอ่านอยู่สักพักหนึ่งก็เกิดพุทธิปัญญาขึ้นมาว่า น่าจะมีคนทำบ้านรวบรวมข้อมูลของสามเกลอ เอาไว้บนอินเทอร์เน็ต แต่หาจนตาเหล่ก็ไม่เจอ อย่ากระนั้นเลย ตูทำเองดีกว่า และแล้ว "ชมรมนักอ่านสามเกลอ" ก็อุบัติขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ต และยืนยงมาจนจะก้าวเข้าสู่ปีที่สองแล้ว

อินเทอร์เน็ตนั้น เป็นระบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงทั้งโลกเข้าไว้ด้วยกัน ถ้าเรามีคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง โมเด็มหนึ่งตัว สายโทรศัพท์ที่ใช้การได้หนึ่งสาย และสตางค์อีกสักเล็กน้อยเพื่อเอาไว้ซื้อเวลาการใช้อินเทอร์เน็ต จากผู้ให้บริการที่มีอยู่หลายสิบรายในเมืองไทย แค่นี้เราก็สามารถเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก ในพริบตา

คนส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อติดต่อสื่อสารกับคนอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไป บางคนใช้เพื่ออ่านข่าวสารต่างๆ บางคนใช้เพื่อกิจการธุรกิจ บางคนใช้เพื่อหาแฟน บางคนใช้เพื่อเสาะหารูปโป๊ (ดูไปเลือดกำเดาก็ไหลไป) บางคนใช้ทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย บางคนใช้เพื่อค้นหาข้อมูล และอีกหลายคนใช้เพื่อเสาะหาเพื่อนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน

ข้อดีของอินเทอร์เน็ตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ว่าจะเป็นเวลาไหน ระยะทางเป็นเท่าไร ก็ไม่สำคัญ ถ้ามีคนที่อเมริกาอยากจะเข้ามาที่บ้าน (web site) ของชมรมนักอ่านสามเกลอ เวลาตีสอง (ซึ่งคนสร้างบ้านกำลังนอนฝันถึงหนูแหม่ม แคทลียา อยู่ที่เมืองไทย) ก็สามารถทำได้ไม่มีปัญหาแต่ประการใด ถ้าอยากจะฝากข้อความ หรือข้อมูลที่เกี่ยวกับสามเกลอ ก็สามารถทำได้ และเมื่อผมเอาข้อมูลที่ได้รับใส่เข้าไปใน web site แล้ว คนอื่นๆ ที่เข้ามาอ่านในภายหลัง ก็จะสามารถรับรู้ข้อมูลของสามเกลอเพิ่มเติมขึ้นอีก วงจรอุบาทว์ (โอ๊ะ ประทานโทษ พักนี้ผมดูข่าวการเมืองมากไปหน่อย) วงจรการสนับสนุนข้อมูลแบบนี้จะทำให้ได้ข้อมูล เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีขีดจำกัด

สรุปง่ายๆ ก็คือโดยอาศัยข้อดีของอินเทอร์เน็ต ผมพยายามจะทำให้ web site ชมรมนักอ่านสามเกลอ เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับ ป. อินทรปาลิต และ สามเกลอ ในทุกด้าน และในขณะเดียวกันก็พยายามเผยแพร่สามเกลอไปยังคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็ได้ผลดีพอสมควรนะครับ ในปัจจุบัน "ชมรมนักอ่านสามเกลอ" มีสมาชิกทางอินเทอร์เน็ตเกือบ 400 ราย เป็นผู้หญิงซะ 25% สำหรับสมาชิกที่อายุน้อยที่สุด ก็กำลังเรียนอยู่ ป. 2 เองครับ

ใน web site ของชมรมนักอ่านสามเกลอ จะแบ่งออกได้เป็นส่วนๆ ดังนี้

(1) ส่วนข้อมูลสามเกลอ
เป็นการรวบรวมบทความและข้อมูลที่เกี่ยวกับป. อินทรปาลิต และสามเกลอ เช่นกำเนิดของตัวละคร, บทวิเคราะห์คุณค่าของสามเกลอ, วินาทีสุดท้ายของ ป. อินทรปาลิต, ชีวประวัติของคนที่วาดปกหนังสือ สามเกลอ, A Right Good Read (บางกอกโพสต์พูดถึงสามเกลอ), บทสัมภาษณ์ของคนที่รู้เรื่องสามเกลอดีที่สุด ในเมืองไทย และอื่นๆ อีกกว่า 25 บทความ

(2) ส่วนเกร็ดความรู้สามเกลอ
เป็นการรวบรวมสิ่งละอันพันละน้อยที่เกี่ยวกับสามเกลอ ที่สมาชิกทางอินเทอร์เน็ตได้ส่งกันเข้ามา เช่น ภรรยาของเจ้าคุณปัจจนึกฯ ชื่อว่าอะไร (คงจะมีน้อยคนที่ทราบ), ถ้า พล นิกร กิมหงวน มีตัวตนจริงๆ และมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน จะมีอายุเท่าไร, เคยมีสามเกลอที่เป็นการ์ตูนทั้งเรื่องอยู่ด้วยนา, และการจับผิด สามเกลอ เป็นต้น

(3) ส่วนสามเกลอสัพเพเหระ
เป็นการรวบรวมบทความต่างๆ ที่ช่วยให้การอ่านสามเกลอเป็นไปได้อย่างมีอรรถรสยิ่งขึ้น เช่น "สามเกลอกับไก่" เป็นข้อเขียนประกอบภาพของผมเอง โดยบรรยายให้ทราบว่าเจ้าอ็อสตาหล็อปและพรรคพวก หน้าตาเป็นอย่างไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับตอน "สามเกลอเลี้ยงไก่" หรือ ตอน "รัฐนิยม" หรือลูกมะอึกหน้าตามัน เป็นอย่างไร เป็นต้น

(4) ส่วนห้องสมุด ป. อินทรปาลิต
เป็นการรวบรวมรายชื่อและรายละเอียดของสามเกลอให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยจะจัดเก็บ ในรูปฐานข้อมูลที่สามารถค้นหาได้ เช่นค้นหาสามเกลอที่พิมพ์ก่อนปี 2500 หรืออยากจะดูหน้าปกและอ่าน เรื่องย่อของสามเกลอเล่มละ 35 สตางค์ ก็มีให้เลือกได้ตามสบาย ตอนนี้ผมได้ข้อมูลของสามเกลอประมาณ 800 ตอนแล้วครับ แต่ทยอยเอาลง web site แล้วประมาณ 200 ตอน ที่ต้องใช้เวลามากก็คือการสแกนหน้าปก ของสามเกลอแต่ละเล่มนั่นเอง

(5) ส่วนสมาชิกชมรม
สมาชิกชมรมนักอ่านสามเกลอนี้ฟรีทุกอย่างครับ เพราะถ้าเก็บสตางค์ก็คงไม่มีใครมาสมัคร สิทธิพิเศษก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ นอกจากเป็นการประกาศตัวให้ชาวโลก (ที่อ่านภาษาไทยออก) ได้รับรู้ว่า "บ้าสามเกลอ" เหมือนกัน และยังมีข่าวสารที่เกี่ยวกับสามเกลอ ส่งให้สมาชิกทุกท่านทางจดหมายอิเลคทรอนิคส์ อีกประมาณเดือนละ 1 ครั้ง

ใครที่เป็นแฟนของสามเกลอคงจำชุด "สงครามอินโดจีน" ได้นะครับ ชุดนี้ผดุงศึกษาพิมพ์ออกมา ตั้งแต่ตอน "ไปรบเวียงจันทร์", "บุกฝั่งโขง" จนกระทั่งจบชุดที่ตอน "ฟ้าถล่ม" แต่จริงๆ ยังไม่จบนะครับ ป. อินทรปาลิต ยังเขียนต่อด้วยตอน "จอมเวหา", "ปีกนาวี", "พักรบ", "นักกีฬาเอก" และ "เสือสั่งป่า" ใครอยากดูหน้าตาของแต่ละตอนพร้อมทั้งรายละเอียด ก็เชิญได้ที่ web site ของชมรมนักอ่านสามเกลอ นะครับ

แฟนๆ ของสามเกลอแต่คนก็มีโอกาสที่จะได้อ่านสามเกลอ รับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับสามเกลอ แตกต่างกันออกไป web site ของชมรมนักอ่านสามเกลอ จึงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลจาก แหล่งต่างๆ เพื่อที่จะทำให้หัสนิยายสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน อยู่คู่กับเมืองไทย และคนไทยไปอีกนานเท่านาน

แมงกะพรุนไฟ

PS. ท่านสามารถเยี่ยมชม web site ของชมรมนักอ่านสามเกลอ ได้ที่ www.samgler.org หรือสามารถติดต่อพูดคุยกับผมได้ที่ webmaster@samgler.org





All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.