Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

ประสบการณ์นักอ่านสามเกลอ



ผมรู้จักสามเกลอครั้งแรกน่าจะเป็นประมาณปี ๒๔๙๔ ตอนนั้นผมอายุ ๕ ขวบ ผมรู้จักจากน้าแป๋วพี่เลี้ยงของผม น้าแป๋วเป็นคนอ้วนอารมณ์ดี น้าแป๋วชอบอ่านหนังสือมาก พอค่ำๆ เสร็จจากงานบ้าน แกก็จะอ่านหนังสือ และหนังสือที่น้าแป๋วอ่านก็คือหนังสือชุดสามเกลอ ผมชอบที่จะอยู่กับน้าแป๋วเพราะแกใจดี น้าแป๋วก็เลยอ่านให้ผมฟังด้วย ซึ่งช่วงนั้นผมยังไม่เข้าโรงเรียน ผมฟังน้าแป๋วอ่านก็ไม่ค่อยจะเข้าใจเรื่องสักเท่าไร ตรงไหนที่ผมไม่เข้าใจน้าแป๋วก็จะอธิบายให้ฟัง สิ่งที่ผมจำได้แม่นจนถึงวันนี้ไม่ใช่เนื้อเรื่อง แต่เป็นกิริยาอาการการอ่าน น้าแป๋วจะอ่านไปหัวเราะไป เสียงที่ผมได้ยินตลอดเรื่องจึงเป็นเสียงอ่านแบบปนเสียงหัวเราะ ทำให้ผมรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง หนังสือที่น้าแป๋วอ่านจะค่อนข้างเก่า (น่าจะเป็นของสำนักพิมพ์เพลินจิตต์) จากประสบการณ์ "ฟัง" ครั้งแรกนั้น คณะพรรคสามเกลอที่ผมรู้จักและจำได้เป็นคนแรกไม่ใช่ พล นิกร หรือกิมหงวน แต่เป็นท่านเจ้าคุณปัจจนึกฯ เพราะว่าท่านมีลักษณะทางสรีระเด่นที่สุด

ผมเริ่มที่จะอ่านหนังสือสามเกลอเอง โดยการเช่าอ่านสักประมาณตอนอยู่ ม.๑ ผมเรียนอยู่โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา บ้านผมอยู่ข้างวัดหงส์ฯ ตอนเย็นเลิกเรียนก็จะเดินกลับบ้าน และมักจะแวะไปที่ตลาดเจริญพาศน์ ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่ทางผ่านตอนกลับบ้าน แต่ชอบแวะไปเพราะที่ข้างๆ ตลาดเจริญพาศน์ จะมีร้านให้เช่าหนังสือการ์ตูนและหนังสืออ่านเล่นอยู่ร้านหนึ่ง กลุ่มผมมี ๓ - ๔ คน เรียนอยู่ชั้นเดียวกันและชอบอ่านหนังสืออ่านเล่นเหมือนกัน จะแวะเวียนมาที่นี่เป็นประจำ ร้านนี้ที่จริงน่าจะเรียกว่าแผงมากกว่า เพราะเขาทำเป็นแผงบนรถเข็น หนังสือต่างๆ ก็จะวางเรียงกันอยู่บนแผง บางส่วนก็จะแขวนโชว์เอาไว้บนราวคล้ายกับแผงขายหนังสือในปัจจุบัน ที่นี่เขาให้เช่าอ่านเฉพาะที่ร้าน(แผง) ไม่ได้ให้เช่าไปอ่านที่บ้าน ค่าเช่าอ่านก็เล่มละหนึ่งสลึง ราคาหนังสือตอนนั้นทั้งหนังสือการ์ตูนและ หนังสืออ่านเล่นอื่นรวมทั้งหนังสือชุดสามเกลอ ราคาขายจะใกล้ๆ กัน อย่าง พล นิกร กิมหงวน เล่มขนาด ๘๐-๑๐๐ หน้านี่ก็ ๒ บาทบ้าง ๒.๕๐ บาทบ้าง ถ้าเป็นเรื่องสั้นๆ ประมาณ ๓๐-๔๐ หน้าจะราคา ๑ บาท ทั้งหมดเป็นหนังสือปกอ่อน ส่วนจะเป็นสำนักพิมพ์ใดพิมพ์นั้น จำไม่ได้จริง ๆ เพราะตอนนั้นสนใจอ่านอย่างเดียว ตอนนั้นผมได้สตางค์ไปโรงเรียนวันละ ๒ บาท (ก๋วยเตี๋ยวชามละ ๕๐ สตางค์) วันไหนมีสตางค์เหลือก็จะเอามาเช่าหนังสืออ่าน บริเวณที่นั่งอ่านหนังสือก็จะอยู่รอบๆ แผงนั่นเอง โดยจะมีม้านั่งเอาไว้ให้แบบนั่งได้คนเดียวบ้าง แบบนั่งได้หลายคนเป็นแถวยาวบ้าง หลังโรงเรียนเลิกนักอ่านรุ่นเยาว์ก็จะมาชุมนุมกันอยู่ที่นี่ ก้มหน้าก้มตาอ่านกันเงียบๆ จะมีส่งเสียงดังบ้างก็พวกที่รวมหัวกันอ่าน (หนังสือเล่มเดียวกัน) คนที่อ่านเร็วจะพลิกไปหน้าใหม่ คนที่อ่านช้ายังไม่ให้พลิกเพราะอ่านยังไม่หมด ก็ทุ่มเถียงกันพอหอมปากหอมคอ พออ่านจบก็เอาหนังสือคืนเจ้าของจ่ายสตางค์ค่าเช่าก็เรียบร้อย

เจ้าของแผงเป็นชายคนจีนอายุประมาณ ๒๐ เศษๆ ชื่อจริงว่าอะไรไม่ทราบแต่พวกเรารวมทั้งลูกค้าอื่นๆ เรียกเขาว่า "ไอ้ผอม" ซึ่งตรงกับลักษณะที่เรามองเห็นเขามากที่สุด ตัวเล็กๆ และผอมมาก จะเดินจะทำอะไรท่าทางไม่ค่อยจะมีแรง เขามีลูกค้าพวกเด็กๆ เยอะ เขาจะจำได้ว่าผมชอบอ่านหนังสืออะไร วันไหนมีหนังสือสามเกลอออกใหม่ พอเห็นผมไปเขาก็จะบอกทันทีว่า "กิมหงวนเล่มใหม่ออกแล้ว..." ตอนนั้นพวกเราจะเรียกหนังสือชุดสามเกลอว่า "พล นิกร กิมหงวน" แต่ไอ้ผอมเรียกว่า "กิมหงวน" เจ้านี่ชาตินิยมไม่เบาเหมือนกัน

ผมโชคดีที่มีคุณยายใจดี พอโตขึ้นคุณยายจะให้สตางค์ไปซื้อหนังสืออ่าน ผมก็ซื้อสามเกลอมาอ่านทุกเล่มที่มีวางแผง พอเริ่มเป็นหนุ่มก็จะไปเดินเที่ยวเตร่แถววังบูรพา ซึ่งนับได้ว่าเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกของกรุงเทพ มีโรงภาพยนตร์ในบริเวณเดียวกันถึง ๓ โรงคือ โรงภาพยนตร์คิงส์ ควีนส์ และแกรนด์ ห้างเซ็นทรัลแห่งแรกก็อยู่ที่นี่ ผมเดินเที่ยววังบูรพาจนทะลุปรุโปร่ง จนไม่มีที่จะไปก็เดินข้ามฟากข้าม คลองโอ่งอ่างไปถึงเวิ้งนครเขษม ซึ่งสถานที่แห่งนี้ถูกกล่าวถึงในหนังสือสามเกลอหลายต่อหลายตอน ในบริเวณเวิ้งนครเขษมนี้มีถนนเป็นซอย แคบๆ ๒ ซอยเชื่อมระหว่างถนนเยาวราชและถนนเจริญกรุง ในซอยแรกที่อยู่ทางด้านคลอง จะมีตึกแถวที่เป็นที่ตั้งสำนักพิมพ์พิมพ์ต่างๆ เรียงกัน เป็นแถวประมาณ ๓-๔ สำนักพิมพ์ แต่ละสำนักพิมพ์ก็ไม่ใหญ่โตอะไร มีขนาดเพียงห้องแถว ๑ คูหาเท่านั้น มีสองสำนักพิมพ์ที่ผมยังจำได้ดี คือ ผดุงศึกษา และ บรรณาคาร ซึ่งทั้งสองแห่งนี้เป็นแหล่งพิมพ์หนังสือหัสนิยายสามเกลอตอนที่สนุกๆ หลายต่อหลายตอน ภายในสำนักพิมพ์ ทั้งสองมีหนังสือต่างๆ ที่เป็นของสำนักพิมพ์วางขายรวมทั้งหนังสือชุดสามเกลอที่ผมชื่นชอบ ที่นี่เขาจะขายราคาลดลงจากราคาปก ๕๐ สตางค์ (ไม่แน่ใจว่าเป็นราคาขายส่งหรือไม่) สำหรับราคาปกจะอยู่ที่ ๒ - ๓ บาท ซึ่งต่อมาผมจะมาซื้อหนังสือสามเกลอถึงสำนักพิมพ์ทั้งสองนี้เป็นประจำ เพราะประหยัดสตางค์ได้มาก

ระยะหลังประมาณปี ๒๕๐๕ ป.อินทรปาลิต เขียนหัสนิยายสามเกลอให้กับสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น อยู่ที่ถนนนครสวรรค์แถวฝ่านฟ้า ซึ่งก็ไม่ไกลจากเวิ้งนครเขษม ที่นี่ก็เป็นย่านรวมของสำนักพิมพ์อีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ สำหรับสำนักพิมพ์บรรลือสาส์นแห่งนี้ มีเนื้อที่กว้างขวาง มาก มีหนังสือนิยายหลากหลายประเภท หนังสือสามเกลอที่พิมพ์จากสำนักพิมพ์บรรลือสาส์นจะพิมพ์ออกขายเร็วและมีจำนวนมาก ผมจะไปเลือกซื้อ ถึงสำนักพิมพ์อย่างน้อยเดือนละ ๒ - ๓ หน และทุกครั้งก็จะได้หนังสือสามเกลอเล่มใหม่กลับมาด้วยทุกครั้ง บางทีได้เกือบ ๑๐ เล่ม ผมจะซื้ออ่าน ทุกเล่มไม่ว่าชื่อเรื่องอะไรก็ตาม ราคาขายตามปกเล่มละ ๓ บาท ซื้อที่สำนักพิมพ์ก็ลดราคาให้เล่มละ ๕๐ สตางค์ ที่ผมบอกว่าเลือกซื้อนั้นต้องเลือกจริงๆ เพราะหนังสือที่วางไว้ขายนั้น วางเป็นตั้งเรียงกันเป็นแถวๆ เป็นแถวตอนเรียง ๑๐ เห็นจะได้ ดูละลานตาไปหมด หนังสือของสำนักพิมพ์นี้มีมากจริงๆ เฉพาะหนังสือชุดสามเกลอประเภทเดียวก็ดูกันตาลายแล้ว ถ้าไม่เลือกก็คงจะได้ซื้อเล่มที่ซื้อแล้วกลับมาบ้างแน่ๆ

หนังสือชุดสามเกลอจากสำนักพิมพ์ผดุงศึกษา บรรณาคาร และบรรลือสาส์น นี่ผมซื้อเก็บไว้แทบจะทั้งหมด อาจจะมีตกหล่นบ้างก็คงจะไม่กี่เล่ม ชุดศาลาโกหกของสำนักพิมพ์ผดุงศึกษาผมก็ซื้อตั้งแต่เล่มแรก จนกระทั่งท่านผู้ประพันธ์จากเราไป ถ้าจะถามผมว่ามีหนังสือสามเกลอทั้งหมดกี่เล่ม ผมก็ไม่เคยนับสักทีเพราะระยะหลังไม่ค่อยได้อยู่บ้าน ไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดทางภาคอีสาน แล้วระยะหลังก็มาทำงานประจำทางอีสาน ไม่ค่อยได้กลับบ้าน เมื่อต้นปีนี้เองก็ได้มาพบเวปไซต์ชมรมนักอ่านสามเกลอ ดีใจมากที่มีเวปที่ถูกใจอย่างนี้ ผมสมัครเป็นสมาชิกทันที และรีบติดต่อไปที่กรุงเทพฯ ให้ที่บ้านรวบรวมหนังสือสามเกลอที่ผมมีทั้งหมด โดยให้แยกออกเป็นสำนักพิมพ์ๆ ไป เพื่อที่จะสำรวจจำนวนหนังสือทำรายการ เอามาอวดเพื่อนสมาชิกให้น้ำลายไหลเพราะอยากอ่านหนังสือที่ผมมี... และคืนหนึ่งแม่ก็โทรมาหาบอกกับผมว่า "นึกว่าแกไม่เอาหนังสือสามเกลอแล้ว เห็นทิ้งเอาไว้นานแล้วมันเยอะแยะรกบ้านรกช่อง ....แม่เลยชั่งกิโลขายพวกที่เขาซื้อกระดาษไปหมดแล้ว..." แทนที่ผมจะทำให้สมาชิกชมรมน้ำลายไหล ผมเองกลับต้องน้ำตาไหลครับ!

โดย...โก๋หลังวัง
๓๑ ก.ค. ๒๕๔๓

อ่านข้อความข้างบนแล้ว ขอเชิญแสดงความคิดเห็นที่ "กระดานสนทนาสามเกลอ"




All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.