Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

ระลึกถึง ป. อินทรปาลิต ตอนที่ 3





ที่มา: หนังสือ "หนังสือที่ระลึกในการประชุมเพลิงศพ ป. อินทรปาลิต"
ข้อเขียนโดย: อาภรณ์ อินทรปาลิต
  ตีพิมพ์บน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาติ เพื่อการศึกษา
พิมพ์โดย: คุณ book (00006)

แด่ – พี่ชา : ผู้สร้างสรรค์ความบันเทิงให้สังคม

เมื่อผมลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรก พี่ชา หรือผู้ที่ใครๆ ทั่วบ้านทั่วเมืองเรียกเขาว่า ป.อินทรปาลิต ก็ผ่านเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว พี่ชาเกิดก่อนผมถึง ๑๑ ปี ดังนั้นระหว่างที่ผมเพิ่งรู้จักดินสอหินและกระดานชนวน พี่ชาก็เริ่มทำงานมีรายได้ ความต่างวัยกันมาก ทำให้ผมไม่ใคร่ได้ใกล้ชิดเขานัก แต่เขาก็คือพี่ชายคนโตของพวกเรา

พี่ชา เริ่มมีครอบครัวและแยกจากพี่น้องไป แต่แล้วเมื่อผมอายุได้ ๑๔ ปี พี่ชา กับพี่ไข่มุกต์ พี่สะใภ้ของผม พร้อมด้วยหลานทั้งสองคือฤทัยและฤดี จึงได้กลับมารวมกลุ่มกับพวกเราอีกครั้งหนึ่ง ตอนนั้นแหละผมจึงเริ่มรู้จักนิสัยใจคอของเขาว่า พี่ชาเป็นคนมีอารมณ์ขัน คุยสนุกและหัวเราะง่ายแม้ในขณะที่ไม่ใคร่มีเงินติดกระเป๋า เขาเป็นทั้งพี่และเสมือนเพื่อนของเราทุกคน

พี่ชา ใฝ่ฝันในการประพันธ์มานาน และเขาก็ทำความฝันให้กลายเป็นจริงจนได้ อาจะเป็นเพราะนิสัยของเราคล้ายกัน ผมจึงใกล้ชิดกับเขามากกว่าคนอื่น พี่ชารักศิลปะการประพันธ์ ผมรักศิลปะเช่นเดียวกันหากแต่เป็นคนละสาขา นั่นคือการเขียนภาพ หรือ จะเรียกให้เพราะพริ้งว่า จิตรกรรมก็ได้ ผมติดตามพี่ชาไปไหนมาไหนบ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาที่เขาไปส่งต้นฉบับยังสำนักพิมพ์

พี่ชาและผมได้ร่วมงานกันในสมัยบุกเบิก "ปิยะมิตร" ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ พี่ชาเขียนเรื่องในขณะที่ผมสร้างภาพ ในระยะนั้น นวนิยายของพี่ชากำลังถูกรสนิยมของผู้อ่าน สถิติการจำหน่ายสูงลิ่ว ไม่ว่าเด็กเล็กเด็กใหญ่อภิรมย์กับนวยนิยายของเขาราวกับติดยาเสพย์ติด พี่ชาคร่ำเคร่งอยู่กับการผลิตต้นฉบับ……แผ่นแล้วแผ่นเล่า ที่เขาส่งให้หัวหน้าช่างเรียง ที่มักจะมายืนเกาะโต๊ะรออยู่ตั้งแต่เช้าจรดเย็น - - แม้ในยามค่ำคืนขณะที่คนอื่นหลับอย่างเป็นสุข แต่พี่ชาคงทำงานอยู่เสียงพิมพ์ดีดจากห้องของเขา ยังดังติดต่อกัน แทบไม่ขาดระยะ จนกระทั่งหนึ่งหรือสองนาฬิกาของวันใหม่ ผมเชื่อว่าน้อยคนนักที่จะคร่ำเคร่งกับงานเช่นนั้นได้ แต่นั่นแหละงานย่อมหมายถึงเงิน พี่ชามีรายได้สูงลิ่วเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในขณะนั้น ซึ่งเป็นปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ในเดือนหนึ่งๆ เขาได้รับค่าลิขสิทธิ์จากบทประพันธ์มากยิ่งกว่าเงินเดือนรัฐมนตรีในสมัยนั้นหลายเท่านัก

พี่ไข่มุกต์ พี่สะใภ้ผู้อารีของผม ได้มีโอกาสชื่นชมกับความสำเร็จในชีวิตการประพันธ์ของพี่ชาเพียงไม่กี่ปี ก็ด่วนจากไปด้วยโรคหัวใจ ทิ้งความเศร้าและอาลัยแก่น้องๆ เพราะทุกคนประจักษ์ในคุณงามความดีที่เธอมี อย่างน้อยที่ทุกคนได้เห็นก็คือ การรับพี่ปรานีผู้ดำรงตำแหน่งพี่สะใภ้อันดับสองของพวกเราเข้าอยู่ร่วมบ้านเดียวกันโดยข้อเสนอแนะของพี่ไข่มุกต์เอง ทั้งนี้เพื่อตัดความสิ้นเปลืองจากการเช่าบ้านอยู่ต่างหาก ซึ่งคุณธรรมอันนี้ยากยิ่งที่จะได้พบเห็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบัน

หลังมรณกรรมของพี่ไข่มุกต์ เรา – ผมหมายถึงพี่น้อง ๓-๔ คน ซึ่งรวมทั้งผมก็แยกย้ายกันไปอยู่อย่างเอกเทศ เราต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำงาน จึงทำให้ผมห่างพี่ชาไปบ้าง เพราะระยะนั้นผมได้ถอนตัวจาก "ปิยะมิตร" ไปสร้างปกนวนิยายของสำนักพิมพ์อิสระ และพี่ชาก็เช่นเดียวกัน เขาผลิตเรื่องป้อนสำนักพิมพ์ ๒-๓ แห่งเป็นประจำ รายได้ของพี่ชาอยู่ในระดับสูง ชีวิตของเขาในระยะนั้นรุ่งโรจน์ที่สุด และเป็นเช่นนั้นตลอดระยะเวลาปลายปี

ผมมัวสาระวนอยู่กับธุรกิจของผมจึงทำให้เหินห่างไปบ้าง แต่ก็ทราบข่าวคราวของเขาตลอดเวลา เพราะงานปกนวนิยายขณะนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ ป.อินทรปาลิต ซึ่งออกสู่ตลาดมากมายจากหลายสำนักพิมพ์ ผู้สร้างภาพปกเรื่องของพี่ชาก็มีหลายคน เช่น คุณพนม สุวรรณะบุณย์, คุณวารินทร์ สุทธิสิทธิ์, คุณสมบุญ สว่างจันทร์ และ ผมเอง งานปกหนังสือนั่นแหละ ทำให้ผมยังใกล้ชิดและรู้ซึ้งถึงการงานตลอดจนรายได้ของพี่ชาดี

ผมและพี่น้องเคยไปเยี่ยมพี่ชาเป็นครั้งคราว พี่ชาย้ายบ้านย่อยครั้ง จากอุรุพงษ์ ไปซอยอารี๑ จากนั้นก็ซอยเจือจิตต์ แล้วซอยสีฟ้า และอัพภันพนาอันเป็นแห่งสุดท้าย ระหว่างนั้น พี่ชาเปลี่ยนรถยนต์ราวกับเปลี่ยนที่อยู่ จากเฟี้ยต ไปมอริส แล้วก็ฟอร์ด คอนซูล และ โอเปิ้ล แม้แต่เมื่อไปหมกตัวอยู่ที่บ้านอัพภันพนาก็อุตส่าห์ซื้อมอริส มีนี่ นั้นเป็นคันสุดท้ายที่เขามี หลายคนไม่เข้าใจความคิดของพี่ชาในเรื่องเช่าบ้านอยู่ พี่ ๆ และผมเคยแนะความคิดให้เขามีบ้านสักหลังพร้อมทั้งที่ดินของตนเอง เพื่อเป็นหลักฐานของพี่ชาและเพื่อลูกของเขา เพราะอาชีพอิสระเช่นเขาย่อมหาความแน่นอนมิได้ แต่แปลกอะไรเช่นนั้น จะด้วยเหตุผมอันใดก็เหลือเดา พี่ชาไม่เคยมีบ้านและที่ดินของเขาเองทั้งๆ ที่ระยะนั้นพี่ชามีรายได้ประมาณเดือนละสองถึงสามหมื่นบาท รายได้เหล่านั้นผมได้ทราบจากการบอกเล่าของเจ้าของสำนักพิมพ์ซึ่งพิมพ์จำหน่ายเรื่องของเขาเอง

วันนั้นเป็นวันพุธที่ ๒๕ กันยายน - - ผมกลับจากทำงานโผล่เข้าประตูบ้านก็พลบค่ำแล้ว ยังไม่ทันก้าวขึ้นบันไดก็ต้องชะงักงัน เมื่อได้ยินภรรยาของผมร้องบอกว่า

"พี่ชาเสียเสียแล้ว ติ่งเพิ่งบอกมาเมื่อสักครู่นี้"

แม้ในวงญาติจะทราบล่วงหน้ามานานแล้วว่า หมอกำหนดให้เวลา ๓ เดือนเป็นอย่างมากสำหรับการมีชีวิตยืนยาวของพี่ชา จากการตรวจเมื่อเข้าโรงพยาบาลครั้งหลัง แต่กระนั้นข่าวที่ได้รับมันก็ทำให้ผมซึมเซาไปชั่วขณะ เพราะผมเห็นเขามีแววแห่งความสดชื่นขึ้น เมื่อไปเยี่ยมเขาเป็นครั้งสุดท้ายก่อนหน้าที่เขาจะจากไปเพียงไม่กี่วัน อีกสิบห้านาทีต่อมา เราก็ได้เคารพศพของเขาที่ซอยโชคชัย

ผมอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้นด้วยความรู้สึก ที่อาจจะแตกต่างกว่าคนทั่วๆ ไป - - - ป.อินทรปาลิต นักประพันธ์อาวุโสถึงแก่กรรมอย่างไม่มีอะไรทิ้งไว้ให้บุตรภรรยาเลย – - นั่นคือเนื้อหาของข่าว ผมสะอึก - - อนิจจา - - นักเขียนอาวุโสอย่างพี่ชา ผู้สร้างผลงานมีปริมาณเหลือคณานับตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า ๓๐ ปี แต่ต้องจบชีวิตลงอย่างสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีแม้กระทั่งบ้านจะอยู่ - - - มันเป็นไปได้ละหรือ ?

ข่าวที่ได้รับต่อมา….. "เดลินิวส์" และชมรมนักประพันธ์ รวมทั้งวงการอื่นบางแห่งได้เสนอความช่วยเหลือทายาทผู้ตาย ผมรู้สึกตื้นตันใจและอยากกราบทุกท่านที่ได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือด้วยความขอบพระคุณ แต่…..สิ่งหนึ่งที่ผมยังคิดไม่ออกจนบัดนี้ก็คือ ทรัพย์สินเงินทองที่เขาหามาได้นั้นอันตรธานไปไหนหมด? ……อย่างน้อย ผมก็เคยใกล้ชิดพี่ชากว่าใครในด้านการงานตลอดมา นับแต่สมัย "ปิยะมิตร" จนกระทั่งที่เขาใกล้จะจบเกมชีวิต ผมทราบได้ดีว่า นับแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ จนถึง ๒๕๑๑ นี้ เพียงค่าลิขสิทธิ์วรรณกรรมของเขาเพียงด้านเดียวก็เป็นจำนวนมากมิใช่น้อย

ที่จริง พี่ชาจะใช้ชีวิตอย่างไร มิใช่เรื่องที่ผมหรือใครจะยุ่งเกี่ยวด้วย เงินทุกบาทที่เขาหามาได้ย่อมเป็นสิทธิอันสมบูรณ์ที่เขาจะใช้มัน แต่ข่าวจากหนังสือพิมพ์นั่นสิ ทำให้พี่น้องตลอดจนตัวผมได้รับคำถามจากมิตรสหายเป็นเชิงสงสัยว่า ทำไม ป.อินทรปาลิต จึงจบชีวิตอย่างยากไร้เช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่เขาเขียนนวนิยายมากว่า ๓๐ ปี ด้วยปริมาณเรื่องนับพัน อย่าว่าแต่คนอื่นเลย พี่น้องทุกคนก็คิดว่าพี่ชาคงใช้ชีวิตด้วยความผาสุก เพราะเขาเคยมีรายได้สูงยิ่งกว่าพี่และน้องทุกคน แม้ในช่วงหลังของชีวิตรายได้ของเขาจะตกต่ำไปตามปริมาณการเขียนก็ตาม แต่เขาเพียงใช้ชีวิตเงียบๆ อยู่กับพี่ปราณี และหลานเล็กเพียงคนเดียว ไม่มีใครคิดเลยว่าเขาจะจบชีวิตอย่างคับแค้นถึงเพียงนั้น เพราะเมื่อเปรียบเทียบรายได้และภาระความรับผิดชอบต่อครอบครัวแล้ว ผมเชื่อว่าพี่ชาก็คงอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าพี่น้องรวมทั้งตัวผมอยู่นั่นเอง

พี่ชาชอบใช้ชีวิตง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตอง เขาใจกว้างไม่ว่าในระหว่างญาติหรือมิตรสหาย - - ไม่เคยเอารัดเอาเปรียบใคร แต่เขาไม่เคยทำตนเฟื่องเช่นหนุ่มสังคมทั้งหลาย เขาห่างไกลอบายมุข – ดื่มเหล้าเป็นครั้งคราวเพื่อสังคมมิใช่เมาหยำเป ดังที่ผู้อ่านส่วนมากเข้าใจ ความเข้าใจผิดนี้มีที่มาจากข้อเขียนสั้นๆ ของเขาซึ่งมักจะบรรยายว่า เป็นนักประพันธ์แก่ๆ ฟันหลอและติดเหล้างอมแงม มีภรรยาขายห่อหมก ซึ่งนั่นเป็นการแสดงอารมณ์ขันของเขาเท่านั้น หาความจริงมิได้เลยแม้แต่น้อย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ผมจึงไม่เข้าใจเลยว่า พี่ชาใช้ชีวิตอย่างไร เงินที่เขาหามาได้ด้วยแรงสมอง หยาดเหงื่อและอดหลับอดนอนมานับปีจึงสูญสิ้น ก่อนจบชีวิต ดูเหมือนเขาจะหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีเหลือแม้กระทั่งทรัพย์สินที่เคยมี ครั้งสุดท้ายที่บ้านอัพภันพนา เช่น รถยนต์, ตู้เย็น, วิทยุ, โทรทัศน์ รวมทั้งเครื่องเพชรนิลจินดาที่มีปรานีเคยสวมใส่แต่ครั้งก่อนด้วย….นึกถึงตอนนี้ผมก็ได้แต่ถอนใจ

พี่ชาเกิดมาเพื่อทำประโยชน์แก่สังคม อย่างน้อยเขาได้ให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่านด้วยนวนิยายหลากรส เขามีส่วนช่วยให้เยาวชนรักการอ่านและเริ่มเข้าใจในคุณค่าของหนังสือ เขาไม่เคยทำร้ายจิตใจใคร…..ไม่เคยเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ เขาเกิดมาเพื่อสร้างความสุขให้คนอื่น แต่ช่างน่าเศร้าอะไรเช่นนั้น….เขาจบชีวิตอย่างน่าสงสาร ชีวิตของเขาน่าเศร้าเกินกว่าที่ใครจะเคยคิดเขียนเป็นนวนิยาย

พี่ชาที่รัก…….พี่คนเดียวเท่านั้นที่ทราบได้ดีว่า น้องยังคงเคารพและรักพี่อยู่เสมอ พี่น้องทุกคนไม่เคยขาดความสนใจใยดีในตัวพี่ หากแต่ภารกิจที่เราแต่คนมี ทำให้เราห่างกันไปบ้าง….น้องจะไม่พูดอะไรยิ่งกว่านี้ นอกจากขอให้วิญญาณของพี่จงมีความสุข ถ้าชาติหน้ามีจริง เราคงจะพบกันอีก…

อาภรณ์ อินทรปาลิต
2 พ.ย. 2511

อ่านข้อความนี้แล้วรู้สึกอย่างไร เชิญแสดงความคิดเห็นได้ที่ "กระดานสนทนาสามเกลอ"
โปรดติดตามตอนที่ 4 ใน SamGler Connection ฉบับหน้า





All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.