Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

ระลึกถึง ป. อินทรปาลิต ตอนที่ 2





ที่มา: หนังสือ "หนังสือที่ระลึกในการประชุมเพลิงศพ ป. อินทรปาลิต"
ข้อเขียนโดย: ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร
  ตีพิมพ์บน Internet โดยได้รับอนุญาติ เพื่อการศึกษา
พิมพ์โดย: Webmaster

ป. อินทรปาลิต กับวิวัฒนาการแห่งสังคมไทย

ประมาณเกือบ 20 ปีมาแล้ว พวกเรานักเรียนไทยกลุ่มหนึ่ง นั่งสนทนากันอยู่ภายในห้องพักแคบๆ ของข้าพเจ้า ที่เอ็มมานูเอล คอลเลจ มหาวิทยาลัยควีนแลนด์ ณ เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย

พวกเรากำลังคุยเรื่องเมืองไทย บ้านเกิดเมืองนอนของพวกเราซึ่งต่างคนต่างก็ได้จากมาเป็นเวลาคนละหลาย ๆ ปี ครั้งกระนั้น เมื่อนักเรียนออกไปศึกษาวิชาในต่างประเทศ โอกาสที่จะได้กลับไปเยี่ยมบ้านในระหว่างการศึกษามีน้อยมาก กล่าวคือจะได้กลับบ้านคือเมืองไทยก็ต่อเมื่อสำเร็จการศึกษาเรียบร้อยแล้ว และด้วยเหตุนี้เมื่อพวกเราจับกลุ่มกันก็มักจะคุยถึงเรื่องของเมืองไทย ใครมีสิ่งใดที่ประทับใจก็นำมาพูดกัน โดยไม่รู้จักเบื่อหน่ายและยิ่งพูดก็ยิ่งคิดถึงบ้าน และก็ยิ่งเกิดความรักชาติ เร่งวันเร่งคืนที่จะกลับไปสู่ความอบอุ่นของผืนแผ่นดินไทยอีกครั้งหนึ่ง

วันนั้นใครคนหนึ่งเปรยถามขึ้นมาว่า เมื่อเราคิดถึงเมืองไทย เรานึกถึงอะไรกันบ้าง นอกจากพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนฝูง ตลอดจนบ้านเกิดซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละบุคคล

คำถามนั้น ถึงแม้ผู้ถามอาจจะมิได้หมายความจริงจังเท่าใดนัก แต่ก็เป็นคำถามที่ท้าทายความคิด หลังจากนิ่งเงียบกันไปสักครู่ ผู้เปรยถามก็ได้รับคำตอบ ทุกคนดูเหมือนจะตอบตรงกันว่า นึกถึงวัดและพระสงฆ์ ซึ่งในต่างแดนเช่นนั้นชีวิตของพวกเราช่างขาดเสียจริง ๆ อยู่เมืองไทยไปทางไหนเราจะพบวัดวาอารามและพระคุณเจ้า เป็นภาพที่ประทับตาพิมพ์ใจแก่คนไทยทุกผู้ทุกนาม ในต่างประเทศภาพเช่นนั้นไม่ปรากฏแก่ตา เป็นแต่ความรู้สึกอยู่ในใจว่า ชีวิตของพวกเราคนไทยขาดสิ่งที่สำคัญไปสิ่งหนึ่ง

เนื่องจากพวกเราหลายคนในที่นั้นเติบโตขึ้นมาในย่านราชวัตร สุโขทัย ราชวิถี หรือแม้ศรีอยุธยา มโนภาพของเราจึงจับอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรเป็นศูนย์กลาง ซึ่งบริเวณรอบข้างเต็มไปด้วยสถานที่ซึ่งมีแต่ความสวยงามและเงียบสงบ บริเวณพระบรมรูปทรงม้า ตัวตึกหินอ่อนของพระที่นั่งอนันต์ซึ่งยืนตระหง่านโดดเดี่ยว เขาดินวนาซึ่งร่มรื่นด้วยพฤกษชาตินานาชนิด พระตำหนักจิตรลดาซึ่งเป็นที่ประทับขององค์พระประมุขของชาติ และสนามม้าราชตฤณมัย ซึ่งเงียบสงบในวันธรรมดาและครึกครื้นในวันที่มีการแข่งม้า

เมื่อเรานึกถึงเมืองไทย เรานึกถึงสถานที่เหล่านี้ในครั้งกระนั้น

เรานึกกันเรื่อยต่อไป และคราวนี้ความคิดก็เปลี่ยนจากภาพที่จับต้องได้มาสู่อารมณ์ พวกเรากำลังนึกถึงเสียงเพลงซึ่งกล่อมชาวกรุงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นับแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในบรรยากาศมืดทึบแห่งสงครามเช่นนั้น เราต้องขอบใจ "สุนทราภรณ์" และวงดนตรีของเขาที่ช่วยปลอบประโลมชาวไทย ลืมทุกข์และเกิดกำลังใจที่จะต่อสู้กับชีวิตต่อไป นึกย้อนหลังไปตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าคิดไม่ออกว่าบรรยากาศของสังคมไทยเราจักเปลี่ยนไปเช่นไร หากไม่มี "สุนทราภรณ์" และคณะของเขา

ความคิดถึงเมืองไทยของพวกเราในขณะนั้นยังมิได้ยุติลงที่ "สุนทราภรณ์" เพราะยังมีอีกบางสิ่งที่เรายังขาดไป และเมื่อเราควานหาสิ่งนั้นกันอย่างจริงจัง เราก็เห็นพ้องกันว่า เรากำลังคิดถึงหนังสือชุดสามเกลอ ซึ่งเป็นอาหารแห่งอารมณ์ประจำวันของพวกเรามาเป็นเวลานานปี

พวกเรา ณ ที่นั้นไม่มีผู้ใดไม่รู้จัก "พล นิกร กิมหงวน" ตรงข้ามดูเหมือนเราจะได้อ่านกันมาแล้วทุก ๆ เรื่อง และอาจจะเป็นคนละหลาย ๆ เที่ยวจนกระทั่งสามารถจำประโยคคำพูดในบางตอนได้อย่างแม่นยำ และจนกระทั่งสำนวนจากนิยายเรื่องนั้น ได้ซึมแทรกเข้ามาเป็นสำนวนคำพูดของพวกเราหลายคน ทั้งนี้โดยไม่ต้องกล่าวถึงสิ่งอื่น ๆ ซึ่งผู้เขียนนิยายชุดนั้นแทรกเข้า ไว้ในระหว่างตัวอักษรนับหมื่นนับแสนของเขา

ในครั้งกระนั้น เมื่อพวกเรานึกถึงสังคมไทย เราไม่อาจลืมนิยายชุดสามเกลอไปได้

ข้าพเจ้าได้รับการแนะนำให้รู้จักหนังสือชุด"พล นิกร กิมหงวน" ในระหว่างสงครามอินโดจีน (พ.ศ. 2483) ขณะที่เป็นนักเรียนกินนอนอยู่วชิราวุธวิทยาลัย ดูเหมือนเล่มแรกที่อ่านจะเป็นเรื่อง "นักบินจำเป็น" ซึ่งเกี่ยวกับวีรกรรมของนักบินไทยสมัยรบเอาดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ครั้งนั้นจำได้ว่า การอ่านหนังสือใด ๆ ที่ไม่ใช่หนังสือเรียนเป็น "ของต้องห้าม" ถ้าคุณครูจับได้เป็นถูกลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง คุณครูจับได้ว่าข้าพเจ้าเอาหนังสือ "ปทานุกรม รามเกียรติ์" ของเสฐียรโกเศศและนาคะประทีปมาอ่าน ในเวลาสำหรับทำการบ้านก็ริบเอาไป เมื่อข้าพเจ้าแอบอ่าน "ราชาธิราชตอนศึกมังรายกะยอชวา" ก็ถูกตำหนิอีก เพราะโรงเรียนให้อ่านตอน "ศึกพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง" ซึ่งพิจารณาย้อนหลังไป 30 ปีจากขณะนี้ข้าพเจ้าก็พอจะเข้าใจเจตนาดีของคุณครู เพราะเมื่อนักเรียนหัดคิด "ตะเบง" ตั้งแต่ยังเล็กอยู่เช่นนี้แล้ว จะเรียนให้ได้คะแนนดีในชั้นนั้นหาได้ไม่ โรงเรียนให้นักเรียนเอาใจใส่เรื่องศึกกุมภกรรณ์ หรือเรื่องการว่าความของท้าวมาลีวราช ข้าพเจ้าไพล่ไปให้ความสนใจกับประวัติของพาลี ฯลฯ เช่นนี้เสมอไป และผลก็คือข้าพเจ้าพบความลำบากมากในการขึ้นชั้นแต่ละชั้น ทั้ง ๆ ก็ดูเสมือนว่าเป็นเด็กที่มีความรอบรู้กว้างขวาง

เมื่อคตินิยมในวงการศึกษาครั้งนั้นเป็นเช่นนี้ การอ่านนิยายชุดสามเกลอ จึงต้องเป็นการแอบอ่านและถึงแม้การกระทำเช่นนั้นจะเป็นการเสี่ยง แต่ข้าพเจ้าก็ยอมเสี่ยงด้วยความเต็มใจตลอดมา

ข้าพเจ้าได้มีโอกาสได้ย้อนอ่าน "พล นิกร กิมหงวน" ตั้งแต่เริ่มต้นประมาณปีน้ำท่วม คือเมื่อ พ.ศ. 2485 ซึ่งขณะนั้น ข้าพเจ้าได้ย้ายมาอยู่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรแล้ว บังเอิญเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งเป็นลูกชายเจ้าของร้านเช่าหนังสือขนาดเล็กอยู่ท้ายตลาดราชวัตร ข้าพเจ้าจึงได้พบ "คลัง" หนังสือสามเกลอ และตั้งหน้าตั้งตาอ่านทุกบ่ายเวลาเลิกเรียน จำได้ว่าเมื่อหนังสือ "พล นิกร กิมหงวน" อยู่ในมือแล้ว ข้าพเจ้าไม่ต้องการสิ่งรบกวน ใด ๆ จากภายนอก เพราะเวลานั้นเป็นเวลาเฉพาะระหว่าง ป.อินทรปาลิต กับข้าพเจ้า และนอกจาก "พล นิกร กิมหงวน" แล้ว ข้าพเจ้าก็ได้มีโอกาสรู้จักกับงานของนักประพันธ์คนเดียวกันนี้ในด้านอื่น ๆ นับตั้งแต่ "นักเรียนนายร้อย" เป็นต้นไป

แต่ทั้ง ๆ ที่ข้าพเจ้ารู้จักและมีความนิยมในงานประพันธ์ของ ป. อินทรปาลิต หากไม่เคยมีโอกาสได้รู้จักกับท่านผู้นั้นเป็นส่วนตัวเลย ความจริงข้าพเจ้าได้เคยเห็น ป.อินทรปาลิต อยู่บ่อย ในระหว่างปี 2490 ซึ่งเป็นสมัยที่ ป. อิทรปาลิต กำลังเขียนประจำให้กับหนังสือพิมพ์ "ปิยะมิตร" และข้าพเจ้าก็เตร็ดเตร่อยู่แถบนั้นเป็นประจำ ต่อมาไม่นานข้าพเจ้าก็ไปอยู่ต่างประเทศ และไม่ค่อยจะได้อยู่เมืองไทยตั้งแต่นั้นมา เท่าที่จำได้สมัยนั้นท่านผู้นั้นยังอยู่ในวัยหนุ่มท่าทางกระฉับกระเฉง

ถึงแม้จะไม่เคยรู้จัก ป. อินทรปาลิต เป็นส่วนตัว แต่ข้าพเจ้าก็ยังติดตาม "พล นิกร กิมหงวน" มาตลอด เมื่ออยู่เมืองนอก ก็มีคนส่งไปให้อ่าน กลับมาก็ซื้ออ่านเป็นประจำ หรือบ่อยครั้งก็ย้อนอ่านเรื่องเก่า ๆ ซ้ำไปซ้ำมาเช่นนี้เป็นกิจวัตร ยิ่งราชการมากขึ้นสมองต้องใช้งานมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ยิ่งต้องอ่าน "พล นิกร กิมหงวน" มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอารมณ์ที่แท้จริงและอารมณ์อันเกิดจากสิ่งแวดล้อม ในลักษณะเช่นนี้ ป. อินทรปาลิต จึงเปรียบเสมือนทั้งแพทย์และเพื่อนของข้าพเจ้า

เมื่อเป็นเด็ก ข้าพเจ้าได้รับแต่ความหฤหรรษ์จากการอ่าน "พล นิกร กิมหงวน" แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ข้าพเจ้าแน่ใจว่า ป.อินทรปาลิต ได้ให้อะไรแก่ข้าพเจ้ามากกว่านั้น

ในขณะที่นิยายชุดสามเกลอได้เขียนต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดระยะมาเป็นเวลา 30 ปีเต็ม ข้าพเจ้ามองเห็นงานประพันธ์ชิ้นนี้เป็นการบันทึกวิวัฒนาการแห่งสังคมไทย ในระยะเวลาเดียวกัน และเป็นงานชิ้นเดียวที่ปราศจากคู่แข่งขัน

เริ่มตั้งแต่สมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้วไม่นาน ป. อินทรปาลิต ได้นำผู้อ่านให้รู้จักกับสังคมไทยสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อครั้งที่สำเร็จชั้นมัธยมบริบูรณ์หรือมัธยมแปด ยังเป็นระดับมาตรฐานการศึกษาสำหรับลูกผู้ดีมีเงิน และเมื่อครั้งที่สุภาพชนยังนุ่งผ้าม่วงสวมเสื้อนอกคอปิดกระดุมห้าเม็ดไปในงานต่าง ๆ และนุ่งกางเกงแพรสีสดไปเที่ยวนอกบ้าน "พล นิกร กิมหงวน" ของเราเป็นชายหนุ่มในยุคนั้นซึ่ง "อายผู้หญิง" และ "รักสนุก"

ต่อมาเข้าสู่สมัยแต่งกายแบบสากลและสวมหมวก ซึ่งยังคงจำกันได้ว่าผ้าช้ากสกินและปาล์มบีชเป็นสิ่งที่ถือกันว่าโก้เก๋ที่สุด สังคมไทยเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่สองกำลังเปลี่ยนแปลงโดยรวดเร็ว กระตุ้นด้วยนโยบายและมาตรการของรัฐบาล ซึ่งมีรากฐานอยู่กับชาตินิยม ในยุคนั้น ป. อินทรปาลิต ก็ได้เขียน "สามเกลอรัฐนิยม" "สามเกลอเลี้ยงไก่" ฯลฯ ให้เราอ่าน

เมื่อความรู้สึกชาตินิยมเพิ่มพูนถึงจุดที่ต้องการการปฏิบัติการทางทหาร เริ่มด้วยการเรียกร้องดินแดนคืน ติดตามมาด้วยการใช้กำลัง "พล นิกร กิมหงวน" ของเราก็เปลี่ยนสภาพจากพลเรือนเป็นทหาร ด้วยความรู้สึกรักชาติเช่นเดียวกับคนหนุ่มเลือดไทยทั้งหลาย ตลอดระยะเวลาสงครามซึ่งต่อเนื่องกันไปอีก 4 ปี นิยายสามเกลอส่วนใหญ่จึงเป็นชีวิตในสนามรบทั้งทางบก ทางอากาศ และทางเรือ อย่างไรก็ตามเราก็ได้อ่านเรื่องซึ่งเป็นบันทึกเหตุการณ์ส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการทหารอยู่บ้างประปราย เช่น เหตุการณ์เมื่อน้ำท่วม เมื่อเปิดอาคารถนนราชดำเนิน และเมื่อการซื้อน้ำตาลทรายต้องใช้บัตรปันส่วนเหล่านี้เป็นต้น

เราติดตาม "พล นิกร กิมหงวน" ต่อไปถึงสมัยสงครามเลิก ซึ่ง ป. อินทรปาลิต ก็ปล่อยให้ตัวละครของเขาโลดแล่นไปกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เมื่อเขาสนุกกันด้วยการสมัครผู้แทน เราก็ได้อ่านเรื่องการสมัครผู้แทน เมื่อเขาเริ่มไปทัศนาจรต่างประเทศกัน ป. อินทรปาลิตก็ได้ส่ง "พล นิกร กิมหงวน" ไปเมืองนอกกับเขาด้วย

เข้ามาถึงสมัยปัจจุบันเมื่อสังคมไทยตกอยู่ในภาวะกึ่งสงครามอีกครั้งหนึ่ง "พล นิกร กิมหงวน" ก็ถูก ป. อินทรปาลิต จับสวมเครื่องแบบและให้ออกปฏิบัติการเพื่อความคงอยู่ของประเทศชาติ คราวนี้สมาชิกคณะพรรคได้เพิ่มขึ้นอีกตัว เพราะลูกชายซึ่งโตเป็นหนุ่มแล้ว ได้เข้ามามีบทบาทเป็นกำลังให้พ่อ ๆ ซึ่งย่างเข้าสู่วัยกลางคน เช่นเดียวกับท่านผู้ประพันธ์

กล่าวโดยสรุปแล้ว ป. อินทรปาลิต ได้ใช้นิยายสามเกลอของเขาพิจารณาสังคมไทยทุกมุมทุกด้าน เป็นระยะเวลายาวนานถึง 30 ปี สังคมไทยวิวัฒนาการไปอย่างไร ป. อินทรปาลิต ได้บันทึกเอาไว้โดยละเอียดทั้งสิ้น ในแง่นี้ข้าพเจ้าคิดว่า ป. อินทรปาลิต ได้ทำหน้าที่ของเขาโดยสมบูรณ์แล้ว และด้วยเหตุนี้อีกที่ข้าพเจ้าไม่เคยเบื่อที่จะอ่าน "พล นิกร กิมหงวน" เมื่อใดก็ตามที่ต้องการทบทวนบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมเก่า ๆ ซึ่งไม่มีวันที่จะย้อนกลับมาอีกแล้ว

ในระหว่างตัวอักษรของเขา ซึ่งแม้จะมุ่งให้อ่านคลายความเคร่งเครียดแห่งอารมณ์ หาก ป. อินทรปาลิต ก็ได้แทรกปรัชญาชีวิตซึ่งทรงคุณค่าสำหรับการตรึกตรอง

ตลอดเวลา 30 ปี ป. อินทรปาลิต เน้นอยู่ว่าความสุขแห่งชีวิตมีที่มาสองประการ ประการแรก คือ ความมีเงิน ซึ่งเกิดจากการทำมาหากินโดยสุจริตอย่างหนึ่ง และความมัธยัสถ์อย่างหนึ่ง ในทางที่กลับกัน ความยากจนคือที่มาของความทุกข์ ประการที่สองนั้น ความสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความร่าเริง และไม่ถือเอาสิ่งใดเป็นเรื่องจริงจัง ดังนั้นแม้ ป. อินทรปาลิต จะให้ความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ร่วมโลกในประการแรกไม่ได้ แต่ก็ได้ให้มากกว่าบุคคลอื่นจักได้เคยให้แก่สังคมไทยในประการหลังคือความร่าเริง ป. อินทรปาลิต ปรารถนาจะให้บทประพันธ์ของเขาเป็นยาอายุวัฒนะสำหรับคนไทย

ยิ่งกว่านั้น ป. อินทรปาลิตยังได้พร่ำสอนให้เยาวชนตระหนัก ในการบำเพ็ญตนเป็นคนดี เป็นสุภาพบุรุษ มีความอ่อนโยน ไม่ดูถูกเพื่อนมนุษย์และตั้งใจแต่จะทำประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งเป็นนิสัยใจคอและความประพฤติของ "พล นิกร กิมหงวน" ป. อินทรปาลิต เป็นนักประชาธิปไตยที่บูชาเสรีภาพ และความเสมอภาค

ข้าพเจ้ามีความเสียใจอย่างยิ่ง ที่ไม่มีโอกาสได้กล่าวสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ต่อท่านนักประพันธ์ผู้นี้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ แต่ก็หวังว่าหากมีญาณใดที่ผู้ล่วงลับไปแล้วจะทราบว่า ยังมีคนที่สดุดีงานของเขาอยู่ วิญญาณของเขาก็คงจะมีความสุข

การจากไปของ ป. อินทรปาลิต ครั้งนี้วงวรรณกรรมไทยขาดเพชรน้ำหนึ่งไป ท่านผู้อ่านรวมทั้งตัวข้าพเจ้าขาดมิตรจากตัวอักษร แต่สำหรับสังคมไทยของเรานั้นได้สูญเสียสถาบันที่สำคัญไปอย่างที่ไม่มีสิ่งใดจะทดแทนได้



ด.ร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร
24 ตุลาคม 2511

โปรดติดตามตอนที่ 3 แด่ – พี่ชา : ผู้สร้างสรรค์ความบันเทิงให้สังคม





All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.