Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

ป. อินทรปาลิต ทำนายอนาคต 2550





ที่มา: หนังสือ "ฟ้าหลายสี" โดย ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร
  ตีพิมพ์บน Internet โดยได้รับอนุญาติ เพื่อการศึกษา
พิมพ์โดย: Webmaster

เมื่อ 2-3 คืนที่ผ่านมา ผมนอนอ่านชีวประวัติของนักประพันธ์เอกแห่งยุคท่านหนึ่ง, คือ ป. อินทรปาลิต, ซึ่งผมยกย่องท่านว่า เป็นนักประพันธ์ผู้มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของผมตั้งแต่เล็กจนโต, และตั้งแต่โตจนกระทั่งจะแก่, ยิ่งกว่าใครทั้งสิ้น. ที่ผมคิดอย่างนี้ และที่ผมทำอย่างนี้ ก็เป็นเพราะอิทธิพลจากการอ่านหนังสือของท่าน ป. อินทรปาลิต. หนังสือชีวประวัติที่กล่าวถึงนี้ชื่อว่า "คนขายฝัน" เรียบเรียงโดยการค้นคว้าของคุณเริงชัย พุทธาโร. ในการพิมพ์ครั้งที่ 2 คุณเริงชัย ฯ ได้ให้เกียรติผม โดยนำเอาข้อเขียนของผมชื่อ "ป. อินทรปาลิต กับวิวัฒนาการของสังคมไทย" ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานศพของนักประพันธ์ผู้นั้น เมื่อปี 2512 มารวมไว้ด้วย.

อ่านประวัติของ ป. อินทรปาลิต แล้ว ก็รู้ทันทีว่าคนอย่างนี้ทำงานอยู่ในกรอบไม่ได้, เพราะใจเป็นอิสระ. นักประพันธ์ส่วนมากก็เหมือน ๆ กันซึ่งจะรวมทั้งตัวผมอีกสักคนก็ยังได้. ป. อินทรปาลิต รับราชการไม่ได้ และเรียนหนังสือในโรงเรียนก็มีอุปสรรค. มันเป็นเรื่องของคนที่คิดไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน, ก็เพราะความเป็นอิสระของความคิดและจิตใจนี่แหละที่บันดาลให้นักเขียนและนักประพันธ์สร้างงานต่าง ๆ ออกมาให้อ่านกัน. สังเกตุดูให้ดีสิครับ, คนที่มีความคิดอยู่ในกะลาครอบมักจะเขียนหนังสือไม่ได้, หรือหากจะต้องเขียน ก็อ่านไม่สนุก

ผมเป็นคนที่อ่านหนังสือที่แต่งโดย ป. อินทรปาลิต มากที่สุดในโลกคนหนึ่ง, ได้อ่านมานับพันเรื่อง, โดยเฉพาะเรื่องชุด พล นิกร กิมหงวน ผมคิดว่าจะขาดตกไปก็ไม่กี่เรื่องในระหว่างที่ผมไปอยู่เมืองนอก. มีอยู่เรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงหรืออ้างถึงในหนังสือ "คนขายฝัน" ซึ่งผมไม่เคยอ่าน, หนังสือ พล นิกร กิมหงวน เรื่องที่ว่านี้ ท่าน ป. อินทรปาลิต เขียนเมื่อก่อนถึงแก่กรรมไม่นาน, ให้ชื่อว่า "สู่อนาคต". ผมเก็บความจากหนังสือของคุณเริงชัย พุทธาโร, ฟังดูคล้าย ๆ กับรายการโทรทัศน์อเมริกันชุด "แดนสนธยา" อย่างนั้น, คือ เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากคนปัจจุบันสามารถท่องเที่ยวล้ำกาลเวลาไปรู้ไปอยู่ ไปเห็นล่วงหน้า, โดยอนุภาพของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและของ ดร.ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์.

ป. อินทรปาลิต เขียนเรื่องนี้เป็นในปี 2510 แต่ ดร.ดิเรก ฯ สามารถทำให้คณะพรรคสี่สหาย ข้ามไปสัมผัสกับเหตุการณ์ในปี 2550, คือ 40 ปีล่วงหน้าได้. กล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ป. อินทรปาลิต สร้างจินตนาการว่ากรุงเทพ ฯ ในอนาคตจะเป็นอย่างไร. ผมเคยเขียนว่า ป. อินทรปาลิต เป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ต่อเนื่องกันมา 30-40 ปี คือตั้งแต่ประมาณปี 2480 ถึงปี 2510. สำหรับเรื่อง "สู่อนาคต" นี้คุณปรีชา ฯ ได้มองไปข้างหน้าต่อไปอีกถึง 40 ปี เมื่อก่อนจะถึงแก่กรรม. ผมไม่ได้อ่านทั้งเรื่อง ก็คงจะบรรยายได้ไม่ละเอียด, จะเล่าเฉพาะตอนที่คุณเริงชัย ฯ หยิบยกมาให้อ่าน.

เรื่องราวก็คล้าย ๆ อย่างนี้ครับ คือคณะพรรคสี่สหายได้เดินล้ำหน้ายุคไปถึงปี 2550. เมื่อไปถึงบ้านพัชราภรณ์ ก็ได้ทราบว่าในปีดังกล่าวพวกตนได้ล่วงลับกันไปหมดแล้ว, คนที่เฝ้าบ้านพูดภาษาไทยไม่ได้ และไม่เข้าใจภาษาไทยเลย, แจ้งว่าได้มีประกาศเป็นทางการให้ใช้ภาษาอังกฤษแทนภาษาไทยมาตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งเป็นปีที่แกเกิด หรืออะไรทำนองนั้น, ท่าน ป. อินทรปาลิต คงจะรำคาญคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษปนภาษาไทยมานานแล้ว, ก็เลยคาดเอาล่วงหน้าว่า หากยังคงเป็นอย่างนี้ต่อไป ไม่ช้าไม่นานเมืองไทยก็คงจะเลิกใช้ภาษาไทยกันได้, และกำหนดเอาปี 2527 เป็นปีที่เลิกใช้ภาษาไทยในเมืองไทยเป็นทางการ.

โดยความจริงแล้ว ในปี 2527 เราก็ยังพูดภาษาไทยกันอยู่ในเมืองไทย, และแม้ขณะนี้ก็ยังพูดกันอยู่, แต่อีกหลาย ๆ ปีข้างหน้าก็ชักจะไม่แน่เหมือนกัน โดยเฉพาะในแวดวงนักวิชาการและข้าราชการชั้นสูง. เราจะสังเกตุเห็นว่าเวลาที่นักข่าววิทยุหรือโทรทัศน์เขาสัมภาษณ์ท่านเหล่านี้, ภาษาฝรั่งจะหลุดออกมาแพรวพราว. ในภาคเอกชนก็เหมือนกัน, นักธุรกิจโต ๆ หลายท่านจะพูดภาษาอังกฤษปนไทย ก็คงไม่ใช่มีเจตนาจะวางมาดอะไรหรอกครับ, คงจะเป็นความเคยชินมากกว่า และก็ขาดความระมัดระวัง เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ยินแว่ว ๆ ว่ามีใครคนหนึ่งบัญญัติศัพท์ไทยปนอังกฤษ ในลักษณะของราชาศัพท์ขึ้นมาอย่างเก๋คำหนึ่ง, ดูเหมือนจะเป็นคำว่า "พระราชไอเดีย". จำได้แล้ว, อ่านพบในข้อเขียนของท่านอาจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ก่อนที่ท่านจะเดินทางไปเข้าโรงซ่อมสุขภาพครั้งใหญ่ที่อเมริกา.

เรื่องคนไทยพูดภาษาอังกฤษก็ไม่ว่าอะไรหรอกครับ เพราะเราอยู่ในโลกแคบ ๆ ที่มีหลายชนิดหลายภาษา, ก็จะต้องรู้ภาษาโน้นบ้างภาษานี้บ้าง โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นวิชาการหรือความรู้เฉพาะ, และบางวิชาเขาก็ต้องใช้ภาษาต่างประเทศมาก เช่น วิชาแพทย์ เป็นต้น. อย่างไรก็ตาม เวลาที่พูดโดยมีคนธรรมดา ๆ ฟัง, ก็จะต้องพยายามพูดภาษาไทยกันหน่อย, ถ้าจะเอ่ยคำภาษาต่างประเทศ ก็จะต้องรับอธิบายเสียว่าหมายความว่ากระไรในภาษาไทย, เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กัน. ตัวผมเองสมัยเมื่อกลับจากเมืองนอกมาเป็นอาจารย์จุฬา ฯ ใหม่ ๆ 30 กว่าปีมาแล้ว, แต่งตำราก็มีภาษาอังกฤษแพรวพราวเหมือนกัน เพราะเห็นว่าเป็นวิชาของฝรั่ง ไม่มีคำภาษาไทยที่ตรงความหมาย. พูดตรง ๆ ก็คือไม่ได้พยายามคิดหาคำภาษาไทยเอาเสียเลย. นั่นแหละครับที่เขาบอกว่า โง่มันมาก่อนฉลาด. เดี๋ยวนี้ผมฉลาดขึ้นมากแล้ว เพราะมีอายุมาค่อนศตวรรษ, แต่งหนังสือวิชาการ เดี๋ยวนี้ไม่มีภาษาอังกฤษเลยสักคำเดียว. ถ้าจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ก็ใช้ภาษาอังกฤษหมด, ยิ่งตอนนี้เป็นอนุกรรมการบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานด้วยแล้ว, ก็ยิ่งต้องระวังตัวแจ.

พิมพ์ครั้งแรกใน "ฟ้าเมืองไทย" ฉบับที่ 984





All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.