30 ปี...ป.อินทรปาลิต |
ที่มา: | หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 27 กันยายน 2541 |
โดย: | คุณซูม ซอกแซก |
ตีพิมพ์บน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาติ เพื่อการศึกษา |
ทีมงานซอกแซกได้รับจดหมายจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง กรุณาเขียนมาเตือนสติว่า วันที่ 25 กันยายน ปี 2541 นี้ เป็นวันครบรอบ 30 ปี ที่นักเขียนโด่งดังท่านหนึ่งได้จากเราไป
"ผมทราบว่า คุณซูมให้ความนับถือนักเขียนท่านนี้มาก เพราะเราเคยไปอภิปรายเมื่อวันครบรอบ 20 ปี ด้วยกันมาแล้ว"
"ก็เลยอยากจะถามว่า ครบรอบ 30 ปีปีนี้ จะไม่มีใครจัดงานอะไรให้ท่านบ้างหรืออย่างไร?"
ข้างต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของจดหมายจากผู้ใหญ่ที่ชื่อ วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร หรือ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ผู้เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายแห่ง และแต่งตำราเศรษฐศาสตร์ไว้หลายเล่ม
ส่วนนักเขียนโด่งดังที่ท่านกล่าวถึงก็คือ บรมครู... "ป.อินทรปาลิต" นั่นเอง
เมื่อ 10 ปีก่อน ตอนที่ ป.อินทรปาลิตจากไปครบ 20 ปี ผมกับอาจารย์ ดร.วิชิตวงศ์เคยไปอภิปรายรำลึกถึงท่านมาด้วยกัน ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า
สำหรับปีนี้ อาจจะเหงาหน่อย เพราะไม่มีใครจัดอะไรใหญ่โตนัก แต่ก็คิดว่าคงไม่เงียบเชียบไปเสียทีเดียว
ผมตั้งใจอยู่แล้วว่า จะเขียนถึง ป.อินทรปาลิตในคอลัมน์ซอกแซกวันนี้ ซึ่งคงจะเกินกำหนดไป 2 วัน เพราะวันนี้เป็นวันที่ 27 กันยายน 2541
แต่ก็ได้เปรียบตรงที่คอลัมน์ซอกแซกมีเนื้อที่ยาวกว่าวันธรรมดา สามารถจะเขียนได้หลายๆประเด็น
ขณะเดียวกัน เมื่อ 2 วันก่อน ช่อง 7 สี ทีวีเพื่อคุณ เขาก็ส่งคนมาหาผม มาขอสัมภาษณ์เสียยาวเชียว บอกว่าจะไปออกรายการที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ราวๆต้นเดือนตุลาคมโน่น
ผมก็เลยให้หมายเลขโทรศัพท์ ดร.วิชิตวงศ์ไปด้วย บอกว่าต้องไปสัมภาษณ์ให้ได้ เพราะอาจารย์วิชิตวงศ์เป็นแฟนและเป็นศิษย์ของ ป.อินทรปาลิตขนานแท้ รู้ลึก รู้ละเอียดยิ่งกว่าผมมากมายหลายเท่านัก
เข้าใจว่าทีมงานของช่อง 7 สี คงจะไปสัมภาษณ์อาจารย์เรียบร้อยแล้ว
ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร นักเศรษฐศาสตร์ลายคราม จะพูดถึง ป.อินทรปาลิต ยอดนักเขียนในอดีตอย่างไรบ้าง คงต้องติดตามกันต่อไป
สำหรับผมนั้น ก็อยากจะเรียน ณ ที่นี้อีกครั้งว่า ให้ความเคารพบูชาต่อนักเขียนเอกท่านนี้ ประดุจครูบาอาจารย์ท่านหนึ่ง
ทุกครั้งที่มีใครมาถาม...ผมจะตอบอย่างภูมิใจเสมอว่า นักประพันธ์คนแรกที่บันดาลใจให้ผมอยากเป็นนักเขียนก็คือ ป.อินทรปาลิต เจ้าของฉายานักประพันธ์นิยาย 10 สตางค์นี่แหละ
สมัยเป็นเด็กอยู่ชั้นประถม 4...ได้มีโอกาสอ่านนิยายเรื่อง "นักเรียนนายร้อย" เป็นเรื่องแรก
จากนั้นก็อ่าน 3 เกลอ พล นิกร กิมหงวน และกลายเป็นแฟน 3 เกลอตั้งแต่นั้นมา
ต่อจาก 3 เกลอ ก็อ่าน เสือดำ เสือใบ ไปจนถึงซูเปอร์แมนไทย ขุนพลแกละ อันเลื่องชื่อ
จบ ม.6 จบ ม.8 เข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่ธรรมศาสตร์ ก็ยังตามอ่านหนังสือชุด "ศาลาโกหก" ของท่านอย่างไม่ลดละ
จำได้ว่า ตอนผมไปทำโทที่อเมริกา ก็ยังหิ้วพล นิกร กิมหงวน ติดตัวไปอ่านบนเครื่องบิน 2-3 เล่ม
อ่านมากๆ เข้าก็อยากเขียน อยากฝันแบบท่านบ้าง เลยหัดเขียนมาเรื่อยๆ จนสามารถหากินได้จนถึงทุกวันนี้
วันที่ท่านเสียชีวิต 25 กันยายน 2511 นั้น ผมกำลังเรียนหนังสืออยู่ที่เชิงเทือกเขาร็อกกี้เมาเท่นส์ และกำลังหัดเขียนสารคดีส่งมาลงหนังสือพิมพ์เมืองไทย
ทราบข่าวจากพรรคพวกที่เขียนจดหมายไปบอก ยังจำได้ว่า รู้สึกใจหาย จนต้องไปหยิบหนังสือพล นิกร กิมหงวน ที่นำติดตัวไปด้วย มาอ่านอีก 2-3 ครั้ง
เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้ว ผมจึงมีโอกาสได้รู้รายละเอียดว่า ในบั้นปลายชีวิตของท่าน ยังต้องเช่าบ้านเขาอยู่ และหากจะบอกว่า ท่านยังยากจนอยู่ ก็คงไม่ผิดเท่าไรนัก
โชคดีที่ท่านมีญาติพี่น้องดี โดยเฉพาะคู่เขยของท่าน ชูชัย พระขรรค์ชัย อดีตนักมวยรูปหล่อ ได้รับมาอยู่ด้วยกัน ณ บ้านใหญ่ ที่ซอยโชคชัยร่วมมิตร เยื้องๆกับโรงพิมพ์ไทยรัฐ
บ้านหลังนี้แหละครับ ที่เป็นบ้านหลังสุดท้ายในชีวิตของลูกผู้ชายที่ชื่อ ปรีชา หรือ ป.อินทรปาลิต
ชีวิตนักเขียนสมัยก่อนมักจะเป็นอย่างนี้... เขียนหนังสือให้คนอื่นรํ่ารวยเสียนักต่อนัก แต่ตัวเองยังยากจนเหมือนเดิม
สำหรับ ป.อินทรปาลิต ท่านฝันถึงความรํ่ารวยผ่านตัวละครสี่สหายของท่าน ในขณะที่ตัวท่านเองอยู่ในภาวะจนสุดๆ
เศษแบงก์ที่เสี่ยกิมหงวนฉีกทิ้งในแต่ละครั้ง ดูจะมากกว่าค่าเขียนหนังสือที่ท่านได้รับในชีวิตจริงไม่รู้กี่เท่า
ช่างเถิด...ถึงแม้ ป.อินทรปาลิต จะไม่รํ่ารวยเงินทอง แต่ท่านก็รํ่ารวยชื่อเสียง เกียรติยศ ยากจะหาใครเปรียบได้
ผมมั่นใจว่า จำนวนผู้คนที่รักท่าน นับถือท่าน เพราะได้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตการอ่านหนังสือ และกลายเป็นนักอ่านหนังสือ เพราะอิทธิพลของท่านมีอยู่มากมายในประเทศไทยขณะนี้
โดยเฉพาะคนรุ่นผม อ่อนลงไป 5 ปี หรือแก่ขึ้นมา 5 ปี ร้อยละ หากไม่ถึงร้อยก็คง 70-80 ละน่าที่เป็นแฟนของ ป.อินทรปาลิต และเติบโตมากับ 3 เกลอ
ทุกวันนี้ หนังสือชุด 3 เกลอ ซึ่งต่อมาเพิ่มอีก 1 เกลอ เป็น 4 สหาย ก็ยังมีพิมพ์จำหน่ายและขายได้เรื่อยๆ
ลูกค้าส่วนหนึ่งก็คนรุ่นผมนี่แหละ ที่ไปซื้อไปหามาอ่านเพื่อระลึกถึงความหลังในอดีตกาล
เพราะหัสนิยายชุดนี้ ไม่ว่าจะขำหรือไม่ขำก็ตาม...ล้วนเป็นการบันทึกเสี้ยวหนึ่งของเหตุการณ์ หรือเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ยุคโน้นเอาไว้อย่างน่ารัก
เมื่อเร็วๆนี้ อาจารย์ วิทยากร เชียงกูล และคณะได้ทำวิจัยให้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สรุปหนังสือ 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน
ปรากฏว่า มีหนังสือชุด พล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต อยู่ด้วย...น่าชื่นใจจริงๆ
ครับ! ก็ขออนุญาตกราบคารวะ ป.อินทรปาลิต บรมครูของพวกเราด้วยความเคารพ และด้วยศรัทธาอันสูงยิ่งอีกครั้งหนึ่ง
ไม่ว่าท่านจะจากพวกเราไปนมนานแค่ไหนก็ตาม... ชื่อของท่าน...ข้อเขียนของท่าน...ชีวิตตัวละครในนิยายของท่าน จะโลดแล่นอยู่ในหัวใจของพวกเราตลอดกาล.
All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.