ต่วยตูนกับสามเกลอ 2 |
ที่มา: | หนังสือ "บันทึกจากนักอ่านถึงนักอ่าน" เขียนโดย ทัศน์ทรง ชมภูมิ่ง |
ตีพิมพ์บน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาติ เพื่อการศึกษา | |
พิมพ์โดย: | คุณชานล เพ็ชรฉ่ำ สมาชิกหมายเลข 00181 |
บันทึกจากนักอ่านถึงนักอ่าน
เรื่องการอ่านหนังสือหนังหาอะไรนี่ ก็จำไม่ได้แล้วว่าได้เริ่มประพฤติปฏิบัติมาตั้งแต่เมื่อไหร่ บางทีอาจจะเป็นตอนพี่ยุ่นบุกไทย แล้วก็ชวนน้องไทยประกาศสงครามกับอังกฤษอเมริกา ให้เป็นที่เดือดร้อนกันไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ตอนนั้นผู้ทำบันทึกอายุได้แปดขวบเก้าขวบ อ่านหนังสือได้แตกฉานแล้ว ทีนี้พอสงครามเกิดขึ้น คุณตาของผู้ทำบันทึกก็เลยหมดหนทาง ที่จะได้อ่านหนังสือพิมพ์ เสตรท ไทมส์ ซึ่งออกที่เมืองสิงค์โปร์ คุณตาท่านเป็นชาวพม่ารามัญอ่านหนังสือไทยไม่ออก ฉะนั้นเมื่อท่านกระสันที่จะได้ทราบข่าวคราวการเคลื่อนไหวของคู่สงคราม ท่านก็จำเป็นต้องจ้างหลานให้อ่านหนังสือพิมพ์ประมวญวัน และหนังสือพิมพ์ข่าวภาพให้ท่านฟังทุก ๆ เย็น สนนราคาค่าจ้างที่เราตาหลานตกลงกันนั้นเป็นราคายุติธรรม เราคิดกันเป็นวัน วันละห้าสตางค์แดงๆ
ห้าสตางค์ในสมัยโน้นมีค่าอักโข หมูสะเต๊ะขายกันหกไม้สตางค์ ก๋วยเตี๋ยวบะหมี่ ใส่เนื้อใส่หมูเยอะๆ ราคาไม่เกินชามละสามสตางค์ และเมื่อมีรายได้พิเศษจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นกอบเป็นกำเช่นนี้แล้ว เงินรายได้จำนวนนี้ก็ถูกผันไปเป็นนิยายยุวชน ซึ่งสำนักพิมพ์ชื่ออะไร ก็จำไม่ได้เสียแล้ว เป็นผู้จัดพิมพ์จำหน่ายในรูปแบบของนิทานประกอบรูปภาพ ในราคาที่ค่อนข้างจะย่อมเยา นิยายยุวชนส่วนมากมักจะเน้นหนักไปในทางปลุกระดมให้รักชาติ ให้ยึดมั่นในศีลธรรมในเกียรติวินัย และให้ประพฤติตนเป็นผู้กล้าหาญ นิยายยุวชนดังอยู่พักหนึ่งแล้ว ก็ค่อย ๆ เงียบหายไป มีหัสนิยายชุดสามเกลอเข้ามาแทนที่
ท่านนักประพันธ์ใหญ่ ป. อินทรปาลิต เป็นผู้นำเอา พล พัชราภรณ์ นิกร การุณวงค์ กิมหงวน ไทยเทียม ดร.ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ พระยาปัจนึกพินาศ นายแห้ว โหระพากุล ฯลฯ ให้ก้าวมายืนผงาดอยู่ในตลาดหนังสือ นักปราชญ์ราชบัณฑิตและบรรดาท่านผู้รู้ ต่างก็พากันประนามว่า หัสนิยายชุดสามเกลอเป็นวรรณกรรมประเภทน้ำเน่า ไม่เหมาะสมสำหรับเยาวชน มีโรงเรียนที่ครัดเคร่งบางโรงถึงกับออกคำสั่งห้ามไม่ให้นักเรียนของตนแตะต้อง แต่แม้กระนั้น นิยายชุดนี้ก็เป็นที่ชื่นชอบ และเป็นที่นิยมอ่านกันอย่างกว้างขวาง อ่านกันตั้งแต่ข้าหลวงประจำจังหวัดลงไปจนถึงนักการภารโรง ตั้งแต่นายร้อยนายพันลงไปจนถึงนายสิบพลทหาร ตั้งแต่ขุนศาลอัยการและตำรวจลงไปจนถึงผู้ร้ายอ้ายโจร จากพัศดีถึงนักโทษ และตั้งแต่นายห้างนายหัว ตั้งแต่พ่อเลี้ยงเอี้ยงคำลงไปถึงพ่อค้านางขายธรรมดา ๆ หนังสือชุดสามเกลอเป็นหนังสือที่สะท้อนให้เห็นภาพพจน์ของสังคมไทย ในแต่ละยุคสมัย
ผู้ทำบันทึกยังจำได้ว่า เมื่อท่านผู้นำพิบูลสงครามประกาศรัฐนิยมว่าด้วยการใช้ชื่อและนามสกุลออกมา กิมหงวน ไทยเทียม นักฉีกแบ้งค์อาชีพ ก็ประกาศเปลี่ยนชื่อตัวชื่อสกุลเป็น สงวน ไทยแท้ ทำให้บรรดาพวกเราซึ่งเป็นแฟนานุแฟนรุ่นจิ๋วพากันไชโยโห่ร้องด้วยความดีใจและโล่งใจ โล่งใจก็เพราะพวกเราต่างพากันเป็นห่วงกลัวท่านผู้นำจะส่งเสี่ยหงวนไปเข้าค่ายกักกัน ท่านผู้นำสมัยนั้นท่านพูดจริงทำจริง ท่านไม่ชอบเจ๊กชอบแป๊ะ ท่านก็เนรเทศไปอยู่ค่ายกักกันตามหัวเมืองชายแดน ให้ไปล้มตายกันเป็นเบือ
ตอนปลาย ๆ สงคราม กระดาษขาดแคลนจนผู้พิมพ์ผู้โฆษณาต้องเลิกกิจการกันเป็นแถว ๆ แต่หัสนิยายชุดสามเกลอก็ยังออกมาสนองความต้องการของนักอ่านอยู่อย่างไม่ขาดระยะ หนังสือชุดสามเกลอในช่วงหลัง ๆ พิมพ์ด้วยกระดาษยุ่ย ๆ มีลักษณะไม่ผิดอะไรกับกระดาษชำระของรอฟอทอ แต่สนนราคาซื้อขายกันสูงสุดถึงเล่มละสามสิบห้าสตางค์ ถึงตอนนี้ผู้ทำบันทึกดูเหมือนจะหมดสิทธิที่จะซื้ออ่านด้วยตนเอง ต้องลดฐานะลงมาเป็นนักอ่านประเภทยืมอ่าน
หัสนิยายชุดสามเกลอที่หลั่งไหลออกมานี้ถ้าจะให้เปรียบแล้ว ก็เปรียบเหมือนหนังสือเดินทาง หรือพาสสปอร์ทที่นำผู้บันทึกออกไปสู่โลกกว้าง-โลกแห่งบรรณกรรม
และหนังสือชุดสามเกลอที่บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตและบรรดาท่านผู้รู้ พากันเหยียดหยามนั้น กาลต่อมาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นตำราเรียนภาษาไทยนอกโรงเรียน ที่ช่วยฝึกสอนให้คนไทยเป็นจำนวนแสนจำนวนล้าน ได้มีโอกาสฝึกฝนการอ่านการเขียนภาษาของตน อีกทั้งเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา โดยพฤตินัยของบรรดานักเรียนนักศึกษาทั่วๆไป แต่กระทรวงศึกษา ฯ พึ่งจะมามองเห็นความสำคัญเอาต่อเมื่อปี 2508 สามสิบห้าปีหลังจากที่หนังสือชุดนี้ได้เริ่มวางตลาด
All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.