อาภรณ์ อินทรปาลิต - ศิลปินพันปก |
ที่มา: | ถนนหนังสือปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๒๙ |
คอลัมน์ ลายคำน้ำแต้ม | |
อาภรณ์ อินทรปาลิต : ศิลปินพันปก โดย เริงไชย พุทธาโร | |
ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์บน Internet เพื่อการศึกษา | |
พิมพ์โดย: | คุณต้น สมาชิกหมายเลข 00002 |
เมื่อ ป.อินทรปาลิต เริ่มเป็นที่รู้จักของคนอ่านหนังสือโดยทั่วไป ด้วยนวนิยายเรื่องนักเรียนนายร้อย ที่สำนักพิมพ์เพลินจิต นำมาตีพิมพ์เป็นเรื่องแรก โดยมีเหม เวชกร เป็นผู้เขียนปกแล้ว หนามเตย, ยอดสงสาร, หนี้ชีวิต และนวนิยายแนวรักโศกเรื่องอื่นๆ ของ ป. อินทรปาลิต ก็ทยอยออกมาสู่สายตาของผู้อ่าน ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานพอสมควร จากนั้น ป. อินทรปาลิต จึงได้เขียนหัสนิยายชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ขึ้น เริ่มด้วยเรื่อง อายผู้หญิง, ขาวทะโมน ตามลำดับ (ในระยะแรกมีตัวเอกเพียงแค่พล พัชราภรณ์กับนิกร การุณวงศ์เท่านั้น ส่วนกิมหงวน ไทยแท้และดร.ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ ค่อยมีบทบาทขึ้นมาภายหลัง)
ขณะที่ ป. อินทรปาลิต สร้างบุคลิกลักษณะตัวละครชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ด้วยตัวอักษรจนเด่นชัดขึ้น ในจินตนาการของผู้อ่าน เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน, พนม สุวรรณะบุณย์ ก็เสกสรรค์สร้างภาพของตัวละครเหล่านั้น ให้ผู้อ่านได้เห็นอย่างชัดเจน โดยการเขียนภาพปกของหัสนิยายชุดนี้สืบต่อมา
อาภรณ์กับป. อินทรปาลิต (๒๐ เมษายน ๒๔๙๘) |
จวบจนกระทั่งเมื่อ ประยูร หอมวิไล เจ้าของโรงพิมพ์ไทยพานิช จับมือกับ ป. อินทรปาลิต ออกหนังสือพิมพ์ ปิยะมิตรรายวัน ขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ อาภรณ์ อินทรปาลิต จึงเข้ามารับช่วงเขียนภาพ ให้กับหัสนิยายชุดสามเกลอ ต่อจากศิลปิน ๒ ท่านที่ได้กล่าวนามไปแล้ว โดยเป็นทั้งบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา, ผู้เขียนภาพปก-ภาพประกอบ ของหนังสือพิมพ์ปิยะมิตรรายวัน และปิยะมิตรฉบับพิเศษวันอาทิตย์ ภาพเขียนของอาภรณ์เริ่มโดดเด่นขึ้น จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ในวงการหนังสือสมัยนั้น)
อาภรณ์ อินทรปาลิตเกิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๔ ณ บ้านเลขที่ ๔๗๕๔ค. ตำบลสวนมะลิ ถนนบำรุงเมือง อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย พระนคร เป็นบุตรคนที่หกของ พท.พระวิสิษฐพจนการ (อ่อน อินทรปาลิต) และนางวิสิษฐพจนการ(ชื่น อินทรปาลิต) โดยมีปรีชา อินทรปาลิต (หรือ ป. อินทรปาลิต) เป็นพี่คนที่สอง
หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๘ โรงเรียนราชบุรีวิทยาลัย เทเวศน์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนรพีพัฒน์) แล้วจึงเข้าศึกษาต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ห้วงเวลาก่อนที่จะเข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ อาภรณ์ได้ไปฝึกเขียนรูปกับ ชำนาญ เสนีย์วงศ์ (ซึ่งเป็นช่างเขียนประจำสำนักพิมพ์เพลินจิตต์) โดยศึกษาวิธีการจากแนวทางของศิลปินรุ่นครูบาอาจารย์ เช่นเหม เวชกร, เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน เป็นอาทิ
นิยายภาพชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน อาภรณ์ อินทรปาลิต เขียนจากหัสนิยายของ ป. อินทรปาลิต |
ระหว่างที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น ป. อินทรปาลิตกับประยูร หอมวิไลได้ร่วมมือกัน ออกหนังสือพิมพ์ปิยะมิตรรายวัน และปิยะมิตรฉบับพิเศษวันอาทิตย์ ตามลำดับดังกล่าวแล้ว อาภรณ์รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการและเป็นฝ่ายศิลป์ ให้กับหนังสือทั้ง ๒ เล่ม ทั้งยังเขียนภาพประกอบให้กับ เพลินจิตต์ฉบับพิเศษวันอาทิตย์บ้าง ตลอดจนเขียนปกนวนิยายต่างๆ ที่ตีพิมพ์ออกมาในช่วงเวลานั้น
ภาพของเสือใบ, เสือดำ, สามเกลอ พล นิกร กิมหงวนกับคณะ และภาพปก-ภาพประกอบเรื่องต่างๆ จากปลายพู่กันของอาภรณ์ อินทรปาลิต ปรากฎบนหน้าหนังสือทุกวัน ทุกสัปดาห์ เดือนแล้วเดือนเล่า ทั้งๆ ที่เจ้าตัวไม่เคยคิดมาก่อนว่า จะมาทำงานด้านนี้อย่างเอาจริงเอาจังแต่อย่างใด ที่ไปฝึกฝนมาก็ด้วยใจรักในการเขียนภาพเท่านั้น
วันเวลาที่ "ปิยะมิตร" ทั้งสองประเภทยังครองใจของผู้อ่านในยุคสมัยนั้นอยู่ (เช่นเดียวกันกับเพลินจิตต์รายวัน และเพลินจิตต์ฉบับพิเศษวันอาทิตย์ ที่มีเลียว ศรีเสวก เป็นผู้อำนวยการกองบรรณาธิการ) อาภรณ์ อินทรปาลิต ก็ได้สมรสกับม.ร.ว.จิราธร เกษมศรี ต่อมาจึงมีบุตรธิดาด้วยกัน ๔ คนคือ ธีราภรณ์, ธรธิดา, ธิดาภรณ์ และ อธิพงศ์
อาภรณ์ อินทรปาลิต ลาออกจาก "ปิยะมิตร" ในขณะที่ "ปิยะมิตร" ยังคงดำเนินการอยู่ตามปกติ ช่วงนี้มีงานเขียนปกหนังสือมากมาย ด้วยพู่กันจุ่มหมึกอินเดียอิ๊งค์ หรือหมึกจีนสีดำผสมกับน้ำ ระบายลงบนกระดาษวาดเขียนขนาดใหญ่กว่าภาพที่พิมพ์จริงๆ ไม่มากนัก ในระยะนี้เขาสร้างผลงานปกนวนิยาย ออกมาสู่สายตาของผู้คนบนถนนหนังสือ เดือนละประมาณ ๒๐-๓๐ ปก ส่วนใหญ่เป็นภาพปกหัสนิยายชุดสามเกลอ ที่พี่ชายเป็นผู้เขียนเรื่อง แต่ปกนวนิยายเรื่องแรก (ที่ตีพิมพ์เป็นเล่ม) นั้นเป็นงานเขียนของ "วรรณสิริ" (จำชื่อเรื่องไม่ได้) งานพิมพ์สมัยนั้นยังไม่มีระบบออฟเซ็ท จึงต้องตีพิมพ์ด้วยบล็อค และพิมพ์เพียงแค่สามสีเท่านั้น (เหลือง, แดง, น้ำเงิน) ต่อมาภายหลังจึงเพิ่มสีดำขึ้น กลายเป็นปกสี่สีไปตามวิวัฒนาการการพิมพ์
ภาพของพล นิกร กิมหงวน ดร.ดิเรก และเจ้าคุณปัจจนึกพินาศ ค่อยพัฒนามาตามลำดับ ปกแล้วปกเล่าจนนับเป็นพันๆ ปก กลายเป็นหน้าตาบุคลิกที่สมบูรณ์ ตรงตามลักษณะตัวละครที่ ป. อินทรปาลิต จินตนาการ จนผู้อ่านเจนตาด้วยฝีมือของอาภรณ์ อินทรปาลิต
ต่อมาอาภรณ์เข้าทำงานเป็นฝ่ายศิลป์ ให้กับบริษัทโฆษณาที่คาเธ่ย์ แอ็ดเวอร์-ไทซิ่ง (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเท็ดเบทส์จำกัด) อยู่นานถึง ๖ ปี ได้ความรู้และประสบการณ์ทางด้านโฆษณาอย่างมากมาย แต่ก็ไม่ได้วางมือจากการเขียนภาพหน้าปกแต่ประการใด
เมื่อลาออกจากคาเธ่ย์ แอ็ดเวอร์ไทซิ่ง จึงไปสมัครงานกับยูเซด (USIAD) ได้รับตำแหน่งเป็น "ผู้ควบคุมศิลปกรรม" (Art Supervisor) ถูกส่งไปอยู่ที่เวียงจันทร์ เพื่อผลิตตำราเรียนให้กับกระทรวงศึกษาธิการของลาว อาภรณ์เป็นผู้เขียนหน้าปก อาจารย์สงวน รอดบุญจากกรมฝึกหัดครู นอกจากจะสอนหนังสือแล้วยังเขียนภาพปก และภาพประกอบอีกด้วย มีผู้ร่วมงานในยูเซดอีกหลายคน เป็นต้นว่าอาจารย์ทรงศักดิ์ ศรีกาฬสินธุ์ (ปัจจุบันเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร) เป็นผู้เขียนตำรับตำราต่างๆ อาจารย์อารี สุทธิพันธ์สอนศิลปกรรม โครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างประเทศไทย, ลาว และสหรัฐอเมริกา เพื่อพัฒนาระดับการศึกษาของประชาชนลาว
ตอนที่อยู่เวียงจันทร์นั้น อาภรณ์ต้องกลับเมืองไทยทุกอาทิตย์ เขามีความรู้สึกเหมือนถูกปล่อยให้อยู่ในป่า พอเย็นวันศุกร์หรือเช้าวันเสาร์ ก็โดดขึ้นรถแท็กซี่ข้ามเรือมาที่ท่าเดื่อ จังหวัดหนองคาย เพื่อกลับมาเยี่ยมลูกเยี่ยมเมียที่กรุงเทพ แล้วเย็นวันอาทิตย์หรือเช้าวันจันทร์ จึงขึ้นรถไฟไปหนองคาย เพื่อข้ามเรือกลับไปทำงานต่อที่เวียงจันทร์ (เกือบตกรถไฟหลายเที่ยวแล้ว บางวันรีบร้อนจนลืมเงินทอน พนักงานขายตั๋วต้องวิ่งตามเอาเงินมาคืนให้)
ระหว่างที่ทำงานอยู่ในเวียงจันทร์ เกิดการกบฎแย่งชิงอำนาจกันระหว่าง เจ้าภูมีหน่อสวรรค์ กับเจ้าสุวรรณภูมา ทั้งสองฝ่ายฮึ่มฮั่มกันอยู่หลายวัน แล้วเสียงปืนใหญ่ก็ระเบิดขึ้น ห่างจากที่พักประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร จากนั้นก็ไล่ยิงกัน สนั่นหวั่นไหวไปทั่วทั้งเวียงจันทร์ บรรดาบ้านเรือนร้านค้าต้องปิดกันจ้าละหวั่น อาภรณ์นอนอ่านหนังสืออยู่ในบ้านพักฟังเสียงยิงกัน จนกระทั่งพลบค่ำเสียงปืนจากการสู้รบก็ยังไม่สงบ ไฟสงครามลุกแดงไปทั้งเมือง มิหนำซ้ำตอนกลางคืนยังมีลูกเห็บตกใส่หลังคาที่พักดังกราวใหญ่ พอรุ่งขึ้นก็เริ่มรู้สึกทนไม่ไหว คลำกระเป๋าดูมีเงินเหลืออยู่ไม่ถึงสองร้อยบาท ขืนอยู่ต่อไปคงจะต้องจับจิ้งหรีดกินเหมือนกับชาวบ้าน เพราะร้านรวงต่างๆ ปิดตัวเองกันหมด ไม่มีใครค้าขายอะไรเลย
เพื่อนร่วมงานหลายคนหลบเข้าไปอาศัยอยู่ในสถานทูตไทย แต่สถานทูตอยู่ห่างไกลจากที่พักหลายกิโลเมตร สถานการณ์กำลังหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนี้ อยู่ต่อไปไม่ไหว จึงตัดสินใจข้ามเรือไปศรีเชียงใหม่ พอเรือแล่นมาถึงกลางแม่น้ำโขง ลาวประกาศปิดพรมแดนพอดี
พวกกบฎแพ้ ภูมีหน่อสวรรค์หนีมาเมืองไทย อาภรณ์ อินทรปาลิต อยู่กรุงเทพอีก ๗-๘ วัน จึงกลับไปทำงานตามเดิม
ทำงานให้กับยูเซดที่เวียงจันทร์ประมาณ ๙ เดือน ก็ลาออกกลับมาอยู่ประเทศไทยอย่างถาวร หลังจากนั้นเขาเข้าทำงานที่บริษัทแม็คเคน อีริคสัน ด้วยตำแหน่ง"ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์" (Thai Art Director) ส่วนใหญ่ก็ทำงานไปตามหน้าที่ ไม่มีอะไรเด่นเป็นพิเศษ ผลงานที่รู้จักกันโดยทั่วไปได้แก่ โฆษณาจับเสือใส่ถังพลังสูง (Put a Tiger in Your Tank) ซึ่งเป็น "ไอเดีย" มาจาก "ฝรั่ง" เพียงแต่นำมาปรับปรุงให้เข้ากับบรรยากาศไทยๆ เขาเขียนทั้งภาพ, วางรูปแบบงานพิมพ์ (lay out) และเขียนภาพกำกับบทภาพยนตร์ (story board) ด้วย ทำงานอยู่ในตำแหน่งนี้นานราวๆ ๕ ปี จึงลาออก เพราะสุขภาพไม่ค่อยดี ตลอดเวลาเหล่านั้นเขายังคงเขียนภาพหน้าปก หัสนิยายชุดสามเกลออย่างสม่ำเสมอ
เมื่อถูกถามว่า "จะแนะนำอะไรกับคนรุ่นใหม่ที่กำลังทำงานด้านนี้อยู่บ้าง?" อาภรณ์ยิ้มแจ่มใส
"ไม่กล้าแนะนำ ไม่มีหรอกครับ เพราะว่าเด็กเดี๋ยวนี้พูดถึงในด้านฝีมือนั้นก้าวหน้ามาก ในด้านหลักวิชาก็เรียนดีกว่าสมัยก่อนเยอะ สมัยนี้เด็กก็มีโอกาสที่จะก้าวหน้าได้หลายด้าน เพราะมีแบบอย่างที่ดี ด้วยมีสิ่งเกื้อกูลต่อการคิดสร้างสรรค์สิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ มาก โอกาสของคนรุ่นใหม่นี้ดีกว่าคนรุ่นเก่าเยอะ ปัญหาอยู่ที่ว่าเด็กสมัยนี้มีความตั้งใจจริงๆ ในการทำงานหรือเปล่า บางคนมักจะใช้ชีวิตไปในทางที่ไม่ถูกต้องนัก ทำให้ความก้าวหน้าในการทำงานมันลดลงไป"
คนเขียนภาพ-คนทำงานโฆษณา ศิลปินพันปก วัย ๖๕ ซึ่งหน้าตาดูหนุ่มกว่าอายุจริงหลายปี ผู้มีผลงานฝากไว้บนถนนหนังสือของเมืองไทยมากมายเหลือคณานับ กล่าวตอบอย่างอารมณ์ดี
All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace sufers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.